ในปี 2560 บริษัทฯ ได้จัดทำ “จรรยาบรรณของกรรมการผู้บริหารและพนักงาน” (Code of Conduct)1 โดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ มีความเข้าใจ และสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มได้อย่างครบถ้วน เป็นมาตรฐานสอดคล้องตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีทั้ง 5 หมวด อันประกอบด้วย 1) สิทธิของผู้ถือหุ้น 2) การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน 3) การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 4) การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และ 5) ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท

บริษัทฯ จัดให้มีการทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจการ และจรรยาบรรณของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน เป็นประจำทุกปี โดยคณะกรรมการบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ตระหนักดีถึงความสำคัญของการนำหลักบรรษัทภิบาลและการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาปฏิบัติ เพราะเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนมีระบบการบริหารจัดการที่คำนึงถึงคุณธรรม ความโปร่งใสตรวจสอบได้ อันเป็นพื้นฐานที่ส่งเสริมการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มประสิทธิผล โดยมุ่งเน้นการสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรวมคณะกรรมการจะดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและข้อปฏิบัติที่ระบุไว้ โดยจะปรับปรุงให้เหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์คณะกรรมการจึงได้กำหนดนโยบายและถือปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการ โดยแบ่งเป็น 5 หมวด ได้แก่

  1. สิทธิของผู้ถือหุ้น
  2. การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน
  3. บทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  4. การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
  5. ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท
สิทธิของผู้ถือหุ้น

1. สิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้น

บริษัทฯ ตระหนักถึงสิทธิและความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้น โดยปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกันผู้ถือหุ้นมีสิทธิในการรับทราบข้อมูลผลการดำเนินงานและนโยบายการบริหารงาน มีสิทธิในการรับส่วนแบ่งกำไรสิทธิในการเสนอวาระการประชุม สิทธิในการเสนอชื่อกรรมการและสิทธิในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นทุกรายได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับบริษัท1 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเพื่อเป็นการให้ความมั่นใจว่าผู้ถือหุ้นทุกรายมีสิทธิเท่าเทียมกัน บริษัทฯ ได้จัดให้มีกระบวนการประชุมผู้ถือหุ้นที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ มีมาตรการดูแลการใช้ข้อมูลภายใน มีการควบคุมและดูแลการทำรายการระหว่างกันรวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอ

2. การประชุมผู้ถือหุ้น

  • นโยบายการกำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการประชุม เพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นทุกกลุ่ม ซึ่งรวมถึงนักลงทุนสถาบันเข้าร่วมประชุม

    บริษัทฯ กำหนดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปีละครั้งภายในเวลาไม่เกิน 4 เดือน นับแต่สิ้นสุดรอบปีบัญชีของบริษัทฯ โดยจะกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่จะจัดประชุมซึ่งมีความพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นทุกกลุ่ม ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้นที่เป็นนักลงทุนสถาบัน ได้เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ โดยมีนโยบาย คือ

    • ไม่จัดประชุมในวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันหยุดทำการของธนาคารพาณิชย์ การประชุมจะเริ่มประชุมในช่วง เวลา 8.30 - 16.00 น. โดยเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นทุกคนสามารถส่งใบลงทะเบียนหรือหนังสือมอบฉันทะมายังบริษัทฯ เพื่อรับลงทะเบียนล่วงหน้า
    • จัดประชุมในเขตกรุงเทพมหานครหรือท้องที่อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถเดินทางไปร่วมประชุมได้ง่าย
    • มีการให้ข้อมูลวัน เวลา สถานที่ และวาระการประชุม โดยมีคำชี้แจงและเหตุผลประกอบในแต่ละวาระ หรือประกอบมติที่ขอตามที่ระบุไว้ในหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีและวิสามัญผู้ถือหุ้น หรือในเอกสารแนบวาระการประชุม
    • ไม่มีการจำกัดโอกาสของผู้ถือหุ้นในการศึกษาสารสนเทศของบริษัทฯ
    • หากมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องเสนอวาระเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งกระทบหรือเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นหรือเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ กฎหมายที่ใช้บังคับที่ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้ว บริษัทฯ จะเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเป็นกรณีไป

    ในรอบระยะเวลา 1 ตุลาคม 2561 - 30 กันยายน 2562 บริษัทฯ ได้จัดการประชุมผู้ถือหุ้นจำนวน 1 ครั้ง ได้แก่

    การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ครั้งที่ 26 จัดขึ้นในเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 เวลา 10:00 ณ ห้องวิคเตอร์ 2 - 3 วิคเตอร์ คลับ ชั้น 8 อาคารสาทร สแควร์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์ เลขที่ 98 ถนนสาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ

  • การเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นของกรรมการ และผู้บริหาร

    การประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีนี้ได้ดำเนินการประชุมตามพระราชบัญญัติมหาชน จำกัด พ.ศ. 2538 ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และสอดคล้องกับการประเมินคุณภาพการจัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น

    ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ครั้งที่ 26 มีการพิจารณาลงคะแนนเสียงเรียงลำดับตามวาระที่กำหนดไว้ ก่อนเริ่มการประชุมทุกครั้ง ประธานในที่ประชุมจะชี้แจงวิธีการลงคะแนน การนับคะแนน และการใช้บัตรลงคะแนนเสียง มีกรรมการเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 9 ท่าน คิดเป็นร้อยละ 100 กรรมการบริษัททั้งหมดที่เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยประธานกรรมการ ประธานกรรมการตรวจสอบ ประธานกรรมการบริหาร ประธานกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหา กรรมการ บริษัท ประกอบด้วย

  • 1. นายวันชัย ศารทูลทัต กรรมการอิสระ / ประธานกรรมการ / ประธาน กรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหา
    2. นายปณต สิริวัฒนภักดี รองประธานกรรมการ / ประธานกรรมการบริหาร / กรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหา
    3. นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการ
    4. นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ กรรมการ
    5. นายสิทธิชัย ชัยเกรียงไกร กรรมการ / กรรมการบริหาร
    6. นายชายน้อย เผื่อนโกสุม กรรมการอิสระ / ประธานกรรมการตรวจสอบ / กรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหา / ประธานกรรมการกำกับดูแลบรรษัทภิบาล
    7. นายอุดม พัวสกุล กรรมการอิสระ / กรรมการตรวจสอบ
    8. นายชินวัฒน์ ชินแสงอร่าม กรรมการอิสระ / กรรมการตรวจสอบ / กรรมการกำกับดูแลบรรษัทภิบาล
    9. นายธนพล ศิริธนชัย กรรมการ / กรรมการบริหาร / ประธานอำนวยการ / กรรมการกำกับดูแลบรรษัทภิบาล / ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง

    กรรมการที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม
    - ไม่มี -

    รวมถึงมีที่ปรึกษากฎหมาย ผู้บริหาร และผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของบริษัทฯ เข้าร่วมประชุมด้วยตั้งแต่เริ่มการประชุม

3. ก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น

  • บริษัทฯ ได้เปิดเผยมติคณะกรรมการบริษัทฯ เรื่องกำหนดการจัดประชุมผู้ถือหุ้นทางเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเว็บไซต์ของบริษัทฯ พร้อมทั้งเผยแพร่หนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นที่มีรายละเอียดครบถ้วนเปิดเผยในเว็บไซต์ของบริษัทฯ ก่อนล่วงหน้า 30 วัน
  • จัดส่งหนังสือเชิญประชุมซึ่งบรรจุวาระที่สำคัญอย่างครบถ้วนตามกฎหมาย ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และข้อบังคับของบริษัทฯ อาทิ รายละเอียดวาระการประชุมที่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจรวมทั้งนำเสนอความเห็นของคณะกรรมการบริษัทในแต่ละวาระอย่างชัดเจน รายงานการประชุมครั้งที่ผ่านมา รายงานประจำปีพร้อมทั้งเอกสารประกอบการประชุม เอกสารที่ต้องใช้ในการมอบฉันทะ และระบุวิธีการไว้ชัดเจนให้แก่ผู้ถือหุ้นได้พิจารณาล่วงหน้าก่อนการประชุม 14 วัน และประกาศโฆษณาคำบอกกล่าวนัดประชุมลงหนังสือพิมพ์รายวัน 3 วันติดต่อกันและไม่น้อยกว่า 3 วันก่อนวันประชุม เพื่อบอกกล่าวผู้ถือหุ้นล่วงหน้าในเวลาที่เพียงพอสำหรับเตรียมตัวศึกษาข้อมูลในการพิจารณาเกี่ยวกับวาระการประชุมก่อนมาเข้าร่วมประชุม หนังสือเชิญประชุมได้จัดส่งให้กับผู้ถือหุ้นทุกรายที่มีรายชื่อปรากฎในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งมาประชุมแทน หรือเลือกให้กรรมการอิสระของบริษัทฯ เป็นผู้รับมอบฉันทะเข้าประชุมแทนได้ โดยบริษัทฯ จะเสนอรายชื่อกรรมการอิสระพร้อมประวัติโดยสังเขปในหนังสือเชิญประชุมเพื่อให้ผู้ถือหุ้นพิจารณา โดยได้จัดส่งให้ผู้ถือหุ้นทุกรายที่มีรายชื่อปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ณ วันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ
  • นำเสนอค่าตอบแทนกรรมการให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติเป็นประจำทุกปี และนำเสนอนโยบายและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการให้ผู้ถือหุ้นทราบ
  • เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2549 บริษัทฯ ได้ให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยในการเสนอระเบียบวาระการประชุมและเสนอชื่อบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการในเบื้องต้นเป็นการล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์บริษัทฯ www.goldenland.co.th
  • ผู้ถือหุ้นสามารถเข้าดูข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับระเบียบวาระการประชุมได้ทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ เป็นการล่วงหน้าก่อนได้รับเอกสารการประชุม และในวันประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทฯ เปิดให้ผู้ถือหุ้นลงทะเบียนก่อนการประชุมอย่างน้อยสองชั่วโมงเสมอ
  • ไม่เพิ่มวาระการประชุมหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลสำคัญโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้า จัดสรรเวลาการประชุมอย่างเพียงพอ และดำเนินการประชุมอย่างเหมาะสมและโปร่งใส โดยในระหว่างการประชุมจะเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้แสดงความคิดเห็นและซักถามอย่างทั่วถึงก่อนจะให้ลงคะแนน และสรุปมติที่ประชุมของแต่ละวาระ
  • ให้สิทธิผู้ถือหุ้นที่มาร่วมประชุมผู้ถือหุ้นภายหลังเริ่มการประชุมแล้ว มีสิทธิออกเสียงหรือลงคะแนนในระเบียบวาระที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและยังไม่ได้ลงมติ
  • เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสื่อหรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมทั้งเว็บไซต์ของบริษัทฯ
  • จัดใหมี้ชอ่ งทางที่ผถูื้อห้นุ รายย่อยสามารถติดต่อขอข้อมูลโดยตรงทางไปรษณีย์ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail address) ของบริษัทฯ “ir@goldenland.co.th” ในเรื่องต่างๆ ได้แก่ กิจกรรมของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและการตรวจสอบ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นรายย่อยยังสามารถติดต่อขอข้อมูลได้จากเลขานุการบริษัท

4. วันประชุมผู้ถือหุ้น

บริษัทฯ กำหนดวัน เวลา และสถานที่ประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งสามารถเดินทางได้สะดวกทุกราย โดยบริษัทฯ จัดให้มีเอกสารประกอบการประชุมซึ่งส่งพร้อมกับหนังสือเชิญประชุมเพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้ทราบกระบวนการประชุม การตรวจสอบเอกสารหลักฐานเพื่อแสดงสิทธิในการเข้าร่วมประชุม จัดเตรียมอากรแสตมป์ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นมีการมอบฉันทะโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ณ จุดลงทะเบียน กำหนดจุดบริการรับลงทะเบียนอย่างเหมาะสมและเพียงพอ โดยผู้ถือหุ้นสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมได้ล่วงหน้าก่อนเวลาประชุมสองชั่วโมงและต่อเนื่องจนกว่าการประชุมจะแล้วเสร็จ ในการลงทะเบียน และลงคะแนนเสียง บริษัทฯ ได้นำระบบ barcode มาใช้ซึ่งช่วยลดระยะเวลาในขั้นตอนดังกล่าวให้รวดเร็วขึ้น

5. หลังวันประชุมผู้ถือหุ้น

บริษัทฯ ได้มีการแจ้งมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นผ่านระบบข่าวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันประชุม หรือภายในวันทำการถัดไป และผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ โดยได้ระบุผลของการลงคะแนนเสียง (เห็นด้วย / ไม่เห็นด้วย / งดออกเสียง) ในแต่ละวาระ และจัดส่งรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งจดบันทึกรายชื่อกรรมการที่เข้าร่วมประชุม ขั้นตอนการลงคะแนน วิธีการแสดงผลคะแนน ผลของการลงคะแนนเสียง (เห็นด้วย / ไม่เห็นด้วย / งดออกเสียง) ในวาระที่ขอรับรอง / อนุมัติจากผู้ถือหุ้น รวมทั้งข้อซักถามของผู้ถือหุ้นในแต่ละวาระให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใน 14 วัน นับจากวันประชุมผู้ถือหุ้น พร้อมทั้งเผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัทฯ

การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน

บริษัทฯ ให้ความสำคัญและดูแลให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรม คณะกรรมการบริษัทจึงมีนโยบายดังนี้

  • เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถเสนอเพิ่มวาระการประชุมผู้ถือหุ้นได้ล่วงหน้าก่อนการประชุม โดยประกาศแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยล่วงหน้าก่อนการประชุม พร้อมทั้งประกาศหลักเกณฑ์และระบุขั้นตอนของการพิจารณาอย่างชัดเจนไว้บนเว็บไซต์ของบริษัทฯ
  • เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับเลือกเป็นกรรมการ ซึ่งผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดของบริษัทฯ และต้องให้ความยินยอมในการเสนอชื่อด้วย โดยประกาศแจ้งการรับเสนอชื่อรวมถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยล่วงหน้าก่อนการประชุม และเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวไว้บนเว็บไซต์ของบริษัทฯ ทั้งนี้ การคัดเลือกกรรมการในที่ประชุม บริษัทฯ จัดให้มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกรรมการเป็นรายบุคคล
  • ในปี 2562 บริษัทฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเสนอเรื่องที่เห็นว่าสำคัญ สมควรที่จะบรรจุเป็นระเบียบวาระ และชื่อบุคคลเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นกรรมการในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 (ครั้งที่ 26) ล่วงหน้าก่อนการประชุมคือตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 - 30 กันยายน 2561 โดยแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบผ่านระบบข่าวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพร้อมทั้งประกาศหลักเกณฑ์และระบุขั้นตอนที่ชัดเจนไว้ในเว็บไซต์ของบริษัทฯ ที่ www.goldenland.co.th ภายใต้หมวดนักลงทุนสัมพันธ์ หัวข้อการประชุมผู้ถือหุ้น
    • ให้สิทธิออกเสียงแก่ผู้ถือหุ้นตามจำนวนหุ้นที่ถืออย่างเท่าเทียมกัน
    • ดำเนินการประชุมผู้ถือหุ้นตามลำดับระเบียบวาระที่ได้แจ้งไว้ในหนังสือเชิญประชุมเสมอ และมีนโยบายที่จะไม่เพิ่มระเบียบวาระในที่ประชุมโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าเพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้มีโอกาสศึกษาข้อมูลประกอบระเบียบวาระก่อนตัดสินใจ
    • แนบหนังสือมอบฉันทะแบบ ข. ซึ่งเป็นแบบที่ผู้ถือหุ้นสามารถกำหนดทิศทางการลงคะแนนเสียงได้เองในแต่ละวาระพร้อมกับหนังสือนัดประชุม เพื่อให้ผู้ถือหุ้นที่ไม่สะดวกเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองสามารถมอบอำนาจให้กรรมการอิสระหรือบุคคลอื่นเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทน พร้อมทั้งเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ของบริษัทฯ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถดาวน์โหลดได้
    • ส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นใช้บัตรลงคะแนนเสียงสำหรับทุกระเบียบวาระ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถลงคะแนนได้ตามที่เห็นสมควร ซึ่งจะมีการเก็บบัตรลงคะแนนดังกล่าวในห้องประชุม เพื่อนำผลคะแนนมารวมคำนวณกับคะแนนเสียงที่ได้ลงไว้ล่วงหน้าในหนังสือมอบฉันทะ ก่อนที่จะประกาศแจ้งมติของคะแนนเสียงในห้องประชุมในที่สุด
    • บันทึกรายงานการประชุมอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และจัดส่งรายงานการประชุมต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หลังการประชุมเสร็จสิ้น 14 วัน และเผยแพร่รายงานดังกล่าวไว้บนเว็บไซต์ของบริษัทฯ ด้วย

1. นโยบายความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์

คณะกรรมการบริษัทฯ ให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการเกี่ยวกับความขัดแย้งในด้านผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับองค์กรธุรกิจและในระดับบุคลากรของบริษัทฯ อย่างรอบคอบ เป็นธรรม และโปร่งใส รวมทั้งกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบติที่ดีเกี่ยวกับรายการผลประโยชน์ที่ขัดแย้ง และการกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องดังกล่าวอย่างครบถ้วน ในกรณีที่มีวาระที่กรรมการบริษัท รวมทั้งผู้บริหารคนหนึ่งคนใดมีส่วนได้ส่วนเสียในวาระ กรรมการบริษัท / ผู้บริหาร จะไม่เข้าร่วมประชุมหรืองดออกเสียงในวาระนั้นๆ

  • พนักงานต้องหลีกเลี่ยงการขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ของบริษัทฯ ในการติดต่อกับคู่ค้าและบุคคลอื่นใด
  • การที่พนักงานไปเป็นกรรมการ หรือที่ปรึกษาในบริษัท องค์กร หรือสมาคมทางธุรกิจอื่นจะต้องไม่ขัดต่อประโยชน์และการปฏิบัติหน้าที่โดยตรง
  • ไม่เข้าเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจตัดสินใจ หรือผู้บริหารในกิจการที่เป็นการแข่งขันหรือมีลักษณะเดียวกันกับบริษัทฯ แต่ในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ให้รายงานผู้บังคับบัญชาทราบโดยทันที
  • ระหว่างที่ปฏิบัติงานให้บริษัทฯ และหลังจากพ้นสภาพการปฏิบัติงานแล้ว พนักงานจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลที่ถือว่าเป็นความลับของบริษัทฯ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลการปฏิบัติงาน ข้อมูลธุรกิจแผนงานในอนาคตของบริษัทฯ และอื่นๆ
  • ในกรณีที่พนักงานหรือบุคคลในครอบครัวเข้าไปมีส่วนร่วมหรือเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการใดๆ ซึ่งอาจมีผลประโยชน์หรือก่อให้เกิดความขัดแย้งทางธุรกิจต่อบริษัทฯ จะต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบเป็นลายลักษณ์อักษร
  • พนักงานจะต้องไม่กู้ยืมเงินจากคู่ค้าที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้วยยกเว้นสถาบันการเงิน เนื่องจากอาจมีอิทธิพลต่อการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนบริษัท
  • หลีกเลี่ยงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของบริษัทฯ หรือก่อภาระผูกพันทางการเงินในรูปแบบใดๆ กับผู้เกี่ยวข้องทางธุรกิจกับบริษัทฯ หรือพนักงานของบริษัทฯ เอง
  • ห้ามพนักงานจ่ายเงินหรือทรัพย์สินของบริษัทฯ แก่ผู้ใดโดยไม่ได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจ
  • กรณีพนักงานมีความจำเป็นต้องทำงานอื่นเพื่อเพิ่มพูนรายได้หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเวลาทำงาน ทั้งนี้จะต้องไม่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัทฯ ไม่ประกอบกิจการที่เป็นการแข่งขันหรือมีลักษณะเดียวกันกับบริษัทฯ ไม่มีผลเสียต่อชื่อเสียงหรือกิจการของบริษัทฯ ไม่นำความลับของบริษัทฯ ไปใช้ ไม่กระทบกระเทือนต่องานในหน้าที่ของตน

2. นโยบายป้องกันการใช้ข้อมูลภายใน

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการกำกับและดูแลการใช้ข้อมูลภายในให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยยึดมั่นในหลักจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ และเพื่อให้มั่นใจว่านักลงทุนในหลักทรัพย์บริษัทฯ ได้รับการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศ ที่ว่าด้วยเรื่องการใช้ข้อมูลภายในของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ถูกต้อง ทันที เท่าเทียม และเพียงพอ บริษัทฯ จึงได้กำหนดระเบียบการกำกับดูแลการใช้ข้อมูลภายใน และระเบียบการซื้อขายหลักทรัพย์ของกรรมการผู้บริหาร และพนักงาน ให้สอดคล้องกับกฎหมายเกี่ยวกับหลักทรัพย์ เพื่อความความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ อันมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

  • กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ต้องไม่ใช้ข้อมูลภายในของบริษัทฯ ที่มีสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อสาธารณชนหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ อันนำมาซึ่งผลประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น
  • กรรมการ ผู้บริหาร ต้องงดการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ในช่วงเวลา 30 วันก่อนการเผยแพร่งบการเงิน แก่สาธารณชนและหลังจากเปิดเผยงบการเงินนั้นแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
  • กรรมการและผู้บริหารมีหน้าที่รายงานการถือครองหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์
  • บริษัทฯ มีกฎระเบียบการรักษาความปลอดภัยทางด้านระบบคอมพิวเตอร์และการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญถูกเปิดเผย ซึ่งผู้เกี่ยวข้องกับข้อมูลภายในต้องไม่เปิดเผยข้อมูลจนกว่าจะได้มีการแจ้งข้อมูลนั้นให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ฯ
  • กรณีที่กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงาน นำข้อมูลภายในของบริษัทฯ ไปใช้ในทางมิชอบ บริษัทฯ มีมาตรการลงโทษอย่างเข้มงวดและเคร่งครัด หากมีการกระทำการฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติดังกล่าวข้างต้น บริษัทฯ ถือเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งอาจถูกลงโทษทางวินัยและตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลกั ทรัพย์ พ.ศ. 2535 กำหนดให้กรรมการและผู้บริหารจะต้องรายงานการถือหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนที่กรรมการ และผู้บริหารนั้นดำรงตำแหน่งอยู่ เมื่อเข้ารับตำแหน่งภายใน 30 วันทำการ และรายงานทุกครั้งเมื่อมีการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ภายใน 3 วันทำการต่อ ก.ล.ต.
บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่นๆ และตระหนักถึงบทบาท ความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มบริษัทฯ ยึดถือความซื่อสัตย์สุจริตเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ และดำเนินธุรกิจโดยถูกต้องตามกฎหมายและข้อกำหนดของทางการ ทั้งนี้ บริษัทฯ จะไม่ให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือสนับสนุนกิจกรรมหรือธุรกรรมใดๆ ที่มิชอบด้วยกฎหมายรวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ บริษัทฯ เคารพและไม่สนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือเกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ของผู้อื่น

บริษัทฯ ไม่เรียกร้อง ขอหรือรับเงิน ของขวัญหรือของรางวัล หรือสิ่งตอบแทนอื่นใดจากบุคคลอื่น เว้นแต่เป็นการรับอันเนื่องจากการให้ตามประเพณีนิยม บริษัทฯ ต่อต้านการทุจริต และไม่จ่ายสินบนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ รวมทั้งจะให้ความร่วมมือและสนับสนุนมาตรการของรัฐและเอกชนในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน บริษัทฯ ส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า โดยกำหนดให้พนักงานต้องเอาใจใส่ และปฏิบัติงานด้วยจิตสำนึกถึงความปลอดภัยและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทฯ มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและสังคม

บริษัทฯ กำหนดหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่ม ดังต่อไปนี้

1. ผู้ถือหุ้น

บริษัทฯ คำนึงถึงความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลสำคัญต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา โดยผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การแจ้งข้อมูลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การแจ้งข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ การประกาศทางหนังสือพิมพ์ การจัดทำข่าวประชาสัมพันธ์ หรือการจัดส่งจดหมายเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นต้น

2. ลูกค้า

บริษัทฯ ให้ความสำคัญในเรื่องจรรยาบรรณในการปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรม เอาใจใส่และรับผิดชอบต่อลูกค้า ให้บริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในการรับข้อร้องเรียนจากลูกค้า และดำเนินการอย่างถึงที่สุด เพื่อให้ข้อร้องเรียนได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วเป็นที่พอใจของลูกค้า ภายใต้หลักการดำเนินงานดังนี้:

  • ส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นธรรมและมุ่งมั่นที่จะยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและจริงจัง รวมทั้งเปิดเผยข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการอย่างครบถ้วนถูกต้องและไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง
  • ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการที่ถูกต้อง เพียงพอ และทันต่อเหตุการณ์แก่ลูกค้า เพื่อให้ลูกค้ามีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ โดยไม่มีการกล่าวเกินความเป็นจริง ทั้งในการโฆษณาหรือในการสื่อสารช่องทางอื่นๆ กับลูกค้า อันเป็นเหตุให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคุณภาพ ปริมาณ หรือเงื่อนไขใดๆ ของสินค้าหรือบริการ
  • ตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยความรวดเร็ว และจัดให้มีระบบและช่องทางการติดต่อหรือร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้าและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท www.goldenland.co.th
  • รักษาข้อมูลและความลับของลูกค้า โดยไม่นำข้อมูลไปใช้ในทางที่มิชอบ เว้นแต่เป็นข้อมูลที่ต้องเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องตามบทบังคับของกฎหมาย

3. คู่ค้า และ/หรือเจ้าหนี้/ลูกหนี้

บริษัทฯ ปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย การปฏิบัติตามพันธสัญญาอย่างเคร่งครัดจึงมีนโยบายการปฏิบัติต่อคู่ค้าตามหลักธรรมภิบาล (CG) ในการดำเนินการสรรหา การจัดซื้อจัดจ้างที่เปิดโอกาสให้คู่ค้า (ผู้ขาย / ผู้รับจ้าง / ผู้ให้เช่า) ทุกรายเข้ามาประมูลงาน เสนอราคางานกับบริษัทฯ ด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม เปิดเผย และเป็นธรรมกับคู่ค้าทุกราย และหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ดังนั้น ในกรณีที่คู่ค้าได้รับการติดต่อจากผู้บริหาร พนักงาน หรือบุคคลใดๆ ในลักษณะที่เป็นการเรียกร้องค่าตอบแทนหรือผลตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใด หรือในกรณีที่คู่ค้าเห็นว่า กระบวนการสรรหาและคัดเลือกคู่ค้าของบริษัทฯ ไม่เป็นไปโดยโปร่งใสหรือไม่เป็นธรรมกับคู่ค้า หรือเป็นการขจัดคู่แข่งทางการค้า บริษัทฯ สนับสนุนให้คู่ค้าแจ้งให้บริษัทฯ ทราบทันที เพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรมในการจัดซื้อจัดจ้างแก่คู่ค้าทุกรายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม

การสรรหา จัดซื้อจัดจ้าง และการปฏิบัติต่อคู่ค้า

  • บริษัทฯ ประสงค์ที่จะให้การจัดหาสินค้าและบริการเป็นไปอย่างมีมาตรฐานภายใต้การแข่งขันบนข้อมูลที่เท่าเทียมกัน มีหลักเกณฑ์ในการประเมินและคัดเลือกคู่ค้าและคู่สัญญา จัดทำรูปแบบสัญญาที่เหมาะสม จัดให้มีระบบการจัดการและติดตามเพื่อให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาอย่างครบถ้วน และป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดหา และจ่ายเงินให้คู่ค้าและคู่สัญญาตรงเวลาตามเงื่อนไขการชำระเงินที่ตกลงกัน
  • บริษัทฯ มุ่งที่จะพัฒนาและรักษาสัมพันธภาพที่ยั่งยืนกับคู่ค้าและคู่สัญญาที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในเรื่องคุณภาพของสินค้าและบริการที่คุ้มค่ากับมูลค่าเงิน คุณภาพทางด้านเทคนิค และมีความเชื่อถือซึ่งกันและกัน
  • ห้ามผู้บริหารและพนักงานทุกคนรับผลประโยชน์ใดๆ เป็นส่วนตัวจากคู่ค้าและคู่สัญญาไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
  • ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดหากับคู่ค้า หรือคู่สัญญาที่มีความเกี่ยวพันกับตนเอง
  • ไม่ใช้ข้อมูลที่ได้ทราบอันเนื่องมาจากการจัดซื้อจัดหาเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือผู้อื่น

วิธีการคัดเลือก/เกณฑ์ การประเมินคู่ค้า

  • มีประวัติทางการเงินที่เชื่อถือได้ และมีศักยภาพที่จะเติบโตไปพร้อมกับบริษัทฯ ได้ในระยะยาว
  • ผลิตหรือจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการและสามารถตรวจสอบคุณภาพได้
  • ประเมินความตรงต่อเวลาในการส่งมอบงานสินค้าและบริการ
  • ประเมินความสามารถในการประสานงานการแก้ไขปัญหาและความพร้อมของทีมงาน โดยบริษัทฯ มีนโยบายที่จะปฏิบัติตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะไม่จำหน่ายสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายทางการค้า

4. เจ้าหนี้

บริษัทฯ ได้ยึดมั่นในการปฏิบัติต่อคู่ค้าและ / หรือเจ้าหนี้ อย่างเป็นธรรม ซื่อสัตย์ และไม่เอารัดเอาเปรียบ เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดร่วมกัน และบริษัทได้กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเจ้าหนี้โดยเฉพาะเรื่องเงื่อนไขค้ำประกันการบริหารเงินทุน และกรณีที่เกิดการผิดชำระหนี้ไว้อย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ทางการค้าหรือเจ้าหนี้สถาบันการเงิน โดยไม่ให้มีการผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและข้อตกลงต่างๆ อย่างเคร่งครัด

5. คู่แข่งทางการค้า

บริษัทฯ ประพฤติตามกรอบกติกาการแข่งขันที่ดีรักษาบรรทัดฐานของข้อพึงปฏิบัติในการแข่งขัน ไม่ทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งขันทางการค้าด้วยการกล่าวหาในทางร้าย และปราศจากซึ่งข้อมูลความจริง ไม่เข้าถึงสารสนเทศที่เป็นความลับของคู่แข่งด้วยวิธีการที่ไม่สุจริต หรือด้วยวิธีการอื่นที่ไม่เหมาะสม มีนโยบายและแนวปฏิบัติต่อคู่แข่งขันทางการค้า โดยไม่ละเมิดความลับหรือล่วงรู้ความลับทางการค้าของคู่แข่งขันด้วยวิธีฉ้อฉล จึงกำหนดหลักนโยบายดังนี้

  • ประพฤติปฏิบัติภายใต้กรอบกติกาของการแข่งขันที่ดี
  • ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีการที่ไม่สุจริตหรือไม่เหมาะสม
  • ไม่ทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการค้าด้วยการกล่าวหาในทางร้าย
  • สนับสนุนและส่งเสริมการค้าเสรี เป็นธรรมไม่ผูกขาดหรือกำหนดให้ลูกค้าของบริษัทต้องทำการค้ากับบริษัทเท่านั้น
  • มีนโยบายด้านการไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์ และส่งเสริมให้บุคลากรปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎหมายหรือข้อกำหนดที่เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยจัดให้มีการตรวจสอบให้ถ้วนถี่เมื่อมีการนำข้อมูล ผลงานของบุคคลภายนอก และโปรแกรมต่างๆ มาใช้เพื่อจะได้ไม่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น

6. พนักงาน

บริษัทฯ ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยไม่คำนึงถึงเพศ สัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา หรือความเชื่อ พนักงานถือเป็นทรัพยากรอันมีค่าสูงสุดและเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทฯ เพื่อนำไปส่คู วามสำเร็จที่ดีโดยมีการจา่ ยผลตอบแทนให้แก่พนักงานอย่างเหมาะสม

  • นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับค่าตอบแทนสวัสดิการแก่พนักงาน
    บริษัทฯ มีความรับผิดชอบในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมการทำงานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานอยู่เสมอ โดยยึดมั่นปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งกำหนดนโยบายดูแลเรื่องค่าตอบแทนซึ่งสอดคล้องกับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยจะพิจารณาจากความสามารถในการทำกำไรในแต่ละปี และการวัดผลการปฏิบัติงานตาม Balanced Scorecard รวมทั้งสวัสดิการของพนักงาน อาทิ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อเป็นการออมและสร้างหลักประกันให้แก่พนักงานและครอบครัว โดยเงินสะสมส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับความสมัครใจและอายุงานของพนักงาน อัตราเงินสะสมของพนักงานและอัตราเงินสมทบของบริษัทฯ อยรู่ ะหว่างร้อยละ 5 - 10 ค่ารักษาพยาบาล ค่าทันตกรรมหลักประกันสุขภาพ หลักประกันชีวิตของพนักงานและเงินช่วยเหลือ รวมทั้งของเยี่ยมในโอกาสต่างๆ เป็นต้น
  • นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนาความรู้ศักยภาพของพนักงาน
    บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ความสามารถ และเสริมประสบการณ์พนักงาน โดยส่งเสริมให้พนักงานได้รับการอบรมพัฒนาทั้งภายในและภายนอกบริษัทฯ เพื่อให้พนักงานได้รับการพัฒนาความเชี่ยวชาญและความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมต่างๆ ของธุรกรรม ข้อกำหนดและกฎระเบียบของหน่วยงานต่างๆ ที่บริษัทฯ ต้องปฏิบัติตาม และเพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานทุกคนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบ ข้อบังคับ รวมทั้งจรรยาบรรณทางธุรกิจ และสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง บริษัทฯ ได้ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลทาง Intranet และการปฐมนิเทศพนักงานใหม่ เพื่อให้พนักงานทราบหลักเกณฑ์และยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน
  • นโยบายและแนวปฏิบัติที่จะไม่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
    บริษัทฯ สนับสนุนและเคารพในหลักการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ดูแลมิให้ธุรกิจของบริษัทฯ และบริษัทย่อยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน

7. สังคมและส่วนรวม

บริษัทฯ สนับสนุนการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือบริจาคทรัพย์สินให้แก่มูลนิธิและองค์กรต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมตามโอกาส นอกจากนี้ยังส่งเสริมและปลูกฝังจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมในหมู่พนักงานทุกระดับ จัดให้มีการรณรงค์ประหยัดพลังงานและการใช้ทรัพยากรในบริษัทฯ

8. องค์กรกำกับดูแลและหน่วยงานของรัฐ

บริษัทฯ ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศ ข้อกำหนด และกฎระเบียบต่างๆ ที่กำหนดโดยองค์กรที่กำกับดูแลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ตลาดหลักทรัพย์ฯ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“สำนักงาน ก.ล.ต.”) เป็นต้น รวมทั้งให้ความร่วมมือและประสานงานกับหน่วยงานเอกชนอื่นๆ

9. สิ่งแวดล้อม

บริษัทฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากตระหนักดีว่าในระหว่างการก่อสร้างโครงการต่างๆ ของบริษัทฯ อาจก่อให้เกิดมลภาวะ ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณก่อสร้าง โดยปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดพร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการให้ความรู้และฝึกอบรมพนักงานในเรื่องสิ่งแวดล้อม และได้มีการอบรมให้ความรู้แก่พนักงานในการใช้พลังงานอย่างประหยัด อาทิเช่น การรณรงค์ปิดไฟระหว่างเวลาพักกลางวัน ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร ระหว่างวันหยุดสุดสัปดาห์ และรณรงค์ให้พนักงานใช้กระดาษรีไซเคิลในการพิมพ์เอกสารภายในบริษัท

การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส

1. การเปิดเผยสารสนเทศทางการเงินและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ

เป็นหนึ่งในหลักการที่มีความสำคัญต่อการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับข้อมูลข่าวสารที่ต้องแจ้งแก่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ถือหุ้น ทั้งในด้านของความถูกต้องความเพียงพอ ความรวดเร็ว และความเท่าเทียมกันของการให้ข้อมูลแก่ทุกกลุ่ม ดังนี้

  • เปิดเผยข้อมูลที่สำคัญของบริษัทฯ ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่ไม่ใช่ทางการเงินการเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของงบการเงินนั้น จะต้องผ่านการสอบทาน/ตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีว่า ถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัท ก่อนเผยแพร่ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • เปิดเผยข้อมูลต่างๆ โดยเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ของบริษัทฯ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เช่น งบการเงินแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56 - 1) รายงานประจำปี (แบบ 56 - 2)
  • เปิดเผยบทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการย่อย จำนวนครั้งที่กรรมการแต่ละคนเข้าร่วมการประชุม และนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการ และผู้บริหารระดับสูงไว้ภายใต้หัวข้อการจัดการตามแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56 - 1) และรายงานประจำปี (แบบ 56 - 2)
  • เปิดเผยรายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่อรายงานทางการเงินแสดงควบคู่กับรายงานของผู้สอบบัญชีในรายงานประจำปี (แบบ 56 - 2)
  • กำหนดให้กรรมการของบริษัทฯ ต้องรายงานการซื้อขาย/ถือครองหลักทรัพย์ของบริษัทให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัททราบเป็นประจำทุกไตรมาส
  • กำหนดให้มีการรายงานการมีส่วนได้ส่วนเสียของกรรมการและผู้บริหาร ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 2/2552 เรื่องการรายงานการมีส่วนได้ส่วนเสียของกรรมการ ผู้บริหาร และบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ลงวันที่ 26 มกราคม 2552 โดยกำหนดให้มีการรายงานครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2552 และรายงานทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงภายใน 3 วันทำการ โดยจัดส่งรายงานไปยังเลขานุการบริษัท
  • เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ ไว้บนเว็บไซต์ของบริษัทฯ

2. รเปิดเผยข้อมูลการทำรายการเกี่ยวโยงกันและระหว่างกัน

บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการพิจารณารายการเกี่ยวโยงกันและรายการระหว่างกันต่างๆ อย่างโปร่งใส และเป็นประโยชน์ต่อบริษัทเป็นสำคัญ บริษัทฯ จึงป้องกันรายการที่อาจเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยกำหนดให้ต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการ พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้ผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ

3. การเปิดเผยข้อมูลและความสัมพันธ์กับผู้ลงทุน

บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูลที่มีความถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส และทั่วถึง ทั้งรายงานข้อมูลทางการเงินและข้อมูลทั่วไป ตลอดจนข้อมูลสำคัญที่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ โดยได้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ดังกล่าวเพื่อให้ผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ทั้งโดยผ่านช่องทางและสื่อการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ การแจ้งข้อมูลโดยผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การแจ้งข้อมูลโดยผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ หรือการจัดทำข่าวประชาสัมพันธ์ เป็นต้น โดยมอบหมายให้ผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีความเข้าใจธุรกิจของบริษัทฯ เป็นอย่างดีทำหน้าที่เป็นนักลงทุนสัมพันธ์

ประธานอำนวยการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายบัญชีและการเงิน และรองกรรมการผู้จัดการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการลงทุน ได้มีการสื่อสารโดยตรงกับผู้ถือหุ้น นักลงทุนสถาบัน และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ โดยจัดให้มีการนำเสนอข้อมูลความคืบหน้าการดำเนินกิจการ และตอบข้อซักถามต่างๆ เกี่ยวกับบริษัทให้แก่นักลงทุนและเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ (Press Release) นอกเหนือจากการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสารสนเทศต่างๆ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท www.goldenland.co.th ที่ปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของกลุ่มบริษัทฯ ได้รับรู้ข้อมูลของบริษัทที่เป็นปัจจุบันอย่างเท่าเทียมกัน

ในระยะเวลา 1 ตุลาคม 2561 - 30 กันยายน 2562 บริษัทฯ มีการจัดกิจกรรมนักลงทุนสัมพันธ์ ดังนี้

  • จัดประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ (Analyst Meeting) เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ นักลงทุนเข้าพบกับผู้บริหารระดับสูงเพื่อสอบถามถึงนโยบาย กลยุทธ์แผนธุรกิจ ข้อมูลด้านการเงิน และข้อมูลทั่วไปตามหลักการเปิดเผยข้อมูลด้วยความโปร่งใส จำนวน 10 ครั้ง
  • ร่วมกิจกรรมกับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day) ทุกไตรมาส เพื่อให้ข้อมูล ตอบข้อสงสัยของผู้ถือหุ้นรายย่อยที่มาร่วมงานและที่ส่งคำถามออนไลน์
  • ร่วมงาน Roadshow ทั้งในและต่างประเทศตามคำเชิญของบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ เพื่อชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและการดำเนินงานของบริษัทฯ และตอบข้อซักถามต่างๆ จำนวน 3 ครั้ง
  • มีการพานักวิเคราะห์หลักทรัพย์ นักลงทุนเข้าเยี่ยมชม (Site visit) โครงการที่อยู่อาศัยของบริษัท 3 ครั้ง และโครงการสามย่าน มิตรทาวน์ 2 ครั้ง

ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ นักลงทุนสถาบัน ผู้เกี่ยวข้อง และบุคคลทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูล และซักถามข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับข้อมูลการลงทุน โดยติดต่อ

แผนกนักลงทุนสัมพันธ์ :

หมายเลขโทรศัพท์ : 0-2764-6209
โทรสาร : 0-2764-6222 ต่อ 2
E-mail : ir@goldenland.co.th

4. นโยบายการแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนและการปกป้องผู้ให้ข้อมูล (Whistle Blowing Policy)

บริษัทฯ จัดให้มีช่องทางการรับข้อร้องเรียนและแจ้งเบาะแสทั้งจากภายนอกและภายในบริษัท ตลอดจนมีระบบการดำเนินการจัดการข้อร้องเรียนที่เหมาะสมอีกทั้งยังได้กำหนดมาตรการคุ้มครองและรักษาความลับของผู้ร้องเรียน ดังนี้

  • การแจ้งเบาะแส บริษัทฯ จัดให้มีช่องทางในการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนในกรณีที่สงสัยว่าจะมีการกระทำผิดจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัทฯ การกระทำผิดกฎหมายรวมถึงพฤติกรรมที่ส่อถึงการทุจริต การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันผ่านช่องทางดังนี้
    • การร้องเรียนทางโทรศัพท์ผู้ร้องเรียนสามารถร้องเรียนโดยตรงที่หัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายในที่หมายเลข 0 2764 6206
    • การร้องเรียนทางไปรษณีย์หรือร้องเรียนด้วยตนเอง
      บริษัทฯ ได้จัดเตรียมกล่องรับความคิดเห็นไว้ในที่เปิดเผยให้ผู้ร้องเรียนสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนได้สะดวกด้วยตนเอง กล่องรับความคิดเห็นดังกล่าวจะถูกดำเนินการเปิดเป็นประจำทุกสัปดาห์โดยหัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายในหากผู้ร้องเรียนไม่สามารถเดินทางมาร้องเรียนได้ด้วยตนเองสามารถร้องเรียนได้ตามที่อยู่ดังนี้
      • ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) โดยส่งมาที่ Independent-Director@goldenland.co.th
      • ทางจดหมาย : ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ
        บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์
        944 มิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์ ชั้น 20
        ถนนพระราม 4 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  • กระบวนการดำเนินการรับเรื่องร้องเรียน
    เมื่อบริษัทฯ ได้รับเบาะแสหรือข้อร้องเรียนมาแล้วบริษัทฯ จะดำเนินการรวบรวมข้อมูล ประมวลผล ตรวจสอบ และกำหนดมาตรการในการดำเนินการเพื่อบรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยคำนึงถึงความเดือดร้อนเสียหายโดยรวมทั้งหมด หลังจากนั้น ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวมีหน้าที่ติดตามผลการดำเนินการ และรายงานผลให้ผู้รับแจ้งเบาะแส / ข้อร้องเรียนและผู้แจ้งเบาะแส / ข้อร้องเรียนทราบรวมทั้งรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวต่อประธานอำนวยการประธานกรรมการบริหาร คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัทตามลำดับแล้วแต่กรณี
  • มาตรการคุ้มครอง
    เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้แจ้งเบาะแส / ข้อร้องเรียนหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงบริษัทจะไม่เปิดเผยชื่อ - สกุล ที่อยู่ ภาพ หรือข้อมูลอื่นใดของผู้แจ้งเบาะแส/ข้อร้องเรียน หรือผู้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมไปถึงกำหนดมาตรการคุ้มครองในกรณีที่ผู้นั้นเห็นว่าตนอาจได้รับความไม่ปลอดภัย หรืออาจเกิดความเดือดร้อนเสียหาย ทั้งนี้ผู้ได้รับความเดือนร้อนเสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหายด้วยกระบวนการที่มีความเหมาะสมและเป็นธรรม ทั้งนี้บุคคลที่บริษัทฯ ตรวจสอบแล้วพบว่าได้กระทำผิดจรรยาบรรณธุรกิจ นโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน2 จะได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทฯ กำหนดหรือได้รับโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท

คณะกรรมการบริษัทมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลกิจการเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ คณะกรรมการมีความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้ถือหุ้นและเป็นอิสระจากฝ่ายจัดการ โดยคำนึงถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจ จรรยาบรรณทางธุรกิจ สภาวะความเสี่ยง และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

1. วิสัยทัศน์

คณะกรรมการบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ธุรกิจของบริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจกลยุทธ์ จรรยาบรรณทางธุรกิจ ให้มีความสอดคล้องกันภายใต้ระบบของหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปตามเป้าหมายบนแนวทางที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรวม โดยคณะกรรมการบริษัทได้ร่วมกับฝ่ายบริหารระดับสูงในการกำหนดทิศทางวัตถุประสงค์ เป้าหมาย แผนงาน และงบประมาณประจำปี และคณะกรรมการจะมีการติดตามการปฏิบัติงานให้ได้ตามแผนงานของฝ่ายจัดการที่วางไว้ โดยฝ่ายจัดการจะรายงานผลการปฏิบัติงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารรับทราบเป็นรายเดือน และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทรับทราบเป็นรายไตรมาส

2. โครงสร้างคณะกรรมการ

  • คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่า 5 ท่าน แต่ไม่เกินกว่า 11 ท่าน โดยคณะกรรมการบริษัทต้องมีกรรมการอิสระ ประกอบด้วยกรรมการอิสระไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 ท่าน กรรมการอิสระจะต้องมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ
  • กรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ สามารถเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ ในเครือหรือบริษัทย่อย แต่ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทด้วย
  • มีการเปิดเผยประวัติของคณะกรรมการทุกคน โดยละเอียดต่อสาธารณชน และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ

คุณสมบัติของกรรมการบริษัท

  • เป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ
  • เป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีจริยธรรม และความรับผิดชอบ ตัดสินใจด้วยข้อมูลและเหตุผล
  • เป็นบุคคลที่มีภาวะผู้นำ วิสัยทัศน์ และกล้าแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างและเป็นอิสระ
  • สามารถให้เวลาอย่างเพียงพอในการติดตามการดำเนินงานของบริษัทฯ
  • เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อาทิ
    • บรรลุนิติภาวะ
    • ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
    • ไม่เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่ได้กระทำโดยทุจริต
    • ไม่เคยถูกลงโทษไล่ออกหรือปลดออกจากราชการ หรือองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ ฐานทุจริตต่อหน้าที่
    • ไม่เป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเห็นว่าไม่สมควรเป็นกรรมการตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

คุณสมบัติกรรมการอิสระ

  • ถือหุ้นไม่เกิน 1% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิ ออกเสียงทั้งหมดของบริษัทฯ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วมหรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง โดยให้นับรวมห้นุ ที่ถือโดยผู้เกี่ยวข้องกับกรรมการอิสระรายนั้นๆ ด้วย
  • ไม่เป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมในการบริหารงานพนักงาน ลูกจ้าง ที่ปรึกษาที่ได้รับเงินเดือนประจำ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อย ลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือของผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ ทั้งในปัจจุบันและก่อนเป็นกรรมการอิสระไม่น้อยกว่า 2 ปี
  • ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตหรือโดยการจดทะเบียนตามกฎหมายในลักษณะที่เป็นบิดา มารดา คู่สมรส พี่น้อง และบุตร รวมทั้งคู่สมรสของบุตรของกรรมการรายอื่น ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม หรือบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ หรือบริษัทย่อย
  • ไม่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทฯ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือของผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ ในลักษณะที่อาจเป็นการขัดขวางการใช้วิจารณญาณอย่างอิสระของตน รวมทั้งไม่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทฯ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ ทั้งในปัจจุบันและก่อนเป็นกรรมการอิสระไม่น้อยกว่า 2 ปี ดังนี้
    • ไม่เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ บริษัทใหญ่บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือของผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ ทั้งนี้ให้รวมถึงการไม่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่กรรมการที่ไม่ใช่กรรมการอิสระ ผู้บริหาร หรือหุ้นส่วนผู้จัดการของสำนักงานสอบบัญชีต้นสังกัด
    • ไม่เป็นผู้ให้บริการทางวิชาชีพอื่นๆ เช่น ที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ประเมินราคาทรัพย์สินที่มีมูลค่าการให้บริการทางวิชาชีพอื่นเกินกว่า 2 ล้านบาทต่อปีแก่บริษัทฯ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือของผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ ทั้งนี้ให้รวมถึงการไม่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการที่ไม่ใช่กรรมการอิสระ ผู้บริหาร หรือหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้ให้บริการวิชาชีพอื่นๆ
    • ไม่ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือมีส่วนได้ส่วนเสียจากการทำธุรกรรมทางการค้าหรือธุรกิจ ได้แก่ รายการที่เป็นธุรกิจปกติ รายการเช่าหรือให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ รายการเกี่ยวกับสินทรัพย์หรือบริการ หรือรายการให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับบริษัทฯ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 20 ล้านบาท หรือตั้งแต่ร้อยละ 3 ของสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิของบริษัทฯ แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า โดยให้นับรวมมูลค่ารายการในระหว่าง 1 ปี ก่อนวันที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ทั้งนี้ให้รวมถึงการไม่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการที่ไม่ใช่กรรมการอิสระ ผู้บริหาร หรือหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
  • ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกรรมการของบริษัทฯ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ
  • ไม่ประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของบริษัทฯ หรือบริษัทย่อย ทั้งนี้ให้รวมถึงการไม่เป็นกรรมการที่ไม่ใช่กรรมการอิสระ ผู้บริหารลูกจ้าง พนักงาน หรือที่ปรึกษาที่ได้รับเงินเดือนประจำ หรือถือหุ้นเกินร้อยละ 1 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทอื่นซึ่งประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของบริษัทฯ หรือบริษัทย่อย
  • ไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระได้
  • กรรมการอิสระที่มีคุณสมบัติตามข้อ 1 - 7 อาจได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทให้ตัดสินใจในการดำเนินกิจการของบริษัทฯ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วมบริษัทย่อยลำดับเดียวกัน หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งโดยมีการตัดสินใจในรูปแบบองค์คณะ (Collective decision) ได้
  • การแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัท
    การแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทฯ และพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดกระบวนการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทฯ ดำเนินการโดยคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหา ซึ่งจะพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการ และเสนอชื่อบุคคลเข้าเป็นกรรมการต่อผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาตามลำดับทั้งนี้ ข้อบังคับของบริษัทฯ กำหนดให้การแต่งตั้งกรรมการบริษัทเป็นไปโดยสอดคล้องกับพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด

    • ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม หรือแทนกรรมการที่ต้องออกตามวาระ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
      • ผู้ถือหุ้นหนึ่งคนมีคะแนนเสียงเท่ากับหนึ่งเสียงต่อหนึ่งหุ้น
      • ผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะต้องใช้คะแนนเสียงที่มีอยู่ทั้งหมดตาม (ก) เลือกบุคคลคนเดียวหรือหลายคนเป็นกรรมการก็ได้ แต่จะแบ่งคะแนนเสียงให้แก่ผู้ใดมากน้อยเพียงใดไม่ได้
      • บุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดตามลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการเท่ากับจำนวนกรรมการที่จะมีในการเลือกตั้งครั้งนั้น ในกรณีที่บุคคลซึ่งได้รับการเลือกตั้งในลำดับถัดลงมามีคะแนนเสียงเท่ากันเกินจำนวนกรรมการที่จะมีได้ในการเลือกตั้งครั้งนั้น ให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาด
    • คณะกรรมการเป็นผู้เลือกบุคคลเข้าเป็นกรรมการแทนตำแหน่งกรรมการที่ว่างลงเพราะสาเหตุอื่นใดนอกจากถึงคราวออกตามวาระ

    วาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการบริษัท

    ในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีทุกครั้งให้กรรมการออกจากตำแหน่งอย่างน้อยหนึ่งในสาม ถ้าจำนวนกรรมการที่จะแบ่งออกให้ตรงเป็นสามส่วนไม่ได้ ก็ให้ออก โดยจำนวนใกล้เคียงที่สุดกับส่วนหนึ่งในสาม

    กรรมการที่ต้องออกจากตำแหน่งในปีแรกและปีที่สองภายหลังจดทะเบียนบริษัทนั้นให้จับสลากกัน ส่วนในปีต่อๆ ไปให้กรรมการที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดเป็นผู้ออกจากตำแหน่งกรรมการ โดยกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งแล้วอาจได้รับเลือกตั้งใหม่ได้

    นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้วกรรมการจะพ้นจากตำแหน่งในกรณีดังต่อไปนี้

    • ตาย
    • ลาออก
    • ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด
    • ลาออกโดยมติของการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี
    • ศาลมีคำสั่งให้ออก

    ขอบเขต บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท

    • ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายวัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัทฯ ตลอดจนมติที่ประชุมของผู้ถือหุ้นด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของบริษัทฯ และมีความรับผิดชอบเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทุกราย
    • พิจารณาทบทวนและอนุมัติวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ประจำปี รวมทั้งกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของบริษัทฯ และกำกับควบคุมดูแลให้ฝ่ายบริหารดำเนินการ เป็นไปตามนโยบายและระเบียบของบริษัทฯ อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อความเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนและเพิ่มมูลค่าหุ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
    • รายงานให้ผู้ถือหุ้นทราบถึงผลประกอบการของบริษัทฯ ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นและในรายงานประจำปีของบริษัทฯ
    • ดำเนินการให้บริษัทฯ มีระบบบัญชี การรายงานทางการเงิน การควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิผลและเชื่อถือได้
    • จัดให้มีนโยบายการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ เป็นลายลักษณ์อักษร และทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
    • ควบคุม ดูแล ให้ฝ่ายบริหารมีการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายอย่างมีจริยธรรมและมีความเท่าเทียมกัน
    • กรรมการที่เป็นอิสระและกรรมการจากภายนอกอื่นมีความพร้อมที่จะใช้ดุลยพินิจของตนอย่างเป็นอิสระในการพิจารณากำหนดกลยุทธ์การบริหารงาน การใช้ทรัพยากร การแต่งตั้งกรรมการ และการกำหนดมาตรฐานการดำเนินกิจการ ตลอดจนพร้อมที่จะคัดค้านการกระทำของกรรมการอื่นๆ หรือฝ่ายจัดการ ในกรณีที่มีความเห็นขัดแย้งในเรื่องที่มีผลกระทบต่อความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้นทุกราย
    • ในกรณีที่จำเป็น คณะกรรมการสามารถขอคำแนะนำหรือความเห็นทางวิชาชีพจากที่ปรึกษาภายนอกเกี่ยวกับการดำเนินกิจการ โดยบริษัทฯ เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
    • จัดให้มีเลขานุการบริษัท เพื่อช่วยดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของคณะกรรมการและบริษัทฯ อันได้แก่ การประชุมกรรมการและผู้ถือหุ้น ตลอดจนการให้คำแนะนำแก่กรรมการและบริษัทฯ ในการปฏิบัติตนและดำเนินกิจการให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งดูแลให้กรรมการและบริษัทฯ มีการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศอย่างถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส และทันเวลา
    • หากกรรมการได้รับทราบข้อมูลภายในที่เป็นสาระสำคัญอันจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์กรรมการจะต้องระงับการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนที่ข้อมูลภายในนั้นจะเปิดเผยต่อสาธารณชน และจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญนั้นต่อบุคคลอื่น โดยผู้ฝ่าฝืนอาจได้รับโทษตามกฎหมาย
    • รายงานข้อมูลตาม “แบบรายงานการมีส่วนได้ส่วนเสียของกรรมการ/ผู้บริหาร” ต่อบริษัทฯ ตามเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนด
    • กรรมการใหม่ควรเข้ารับการปฐมนิเทศความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ
    • คณะกรรมการยังได้จัดให้มีหลักจรรยาบรรณธุรกิจ (Code of Conduct) และแจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน พร้อมทั้งเปิดเผยไว้บนเว็บไซต์ของบริษัทฯ โดยให้ถือเป็นนโยบายความซื่อสัตย์ที่ใช้กับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ซึ่งมีหน้าที่ต้องทำความเข้าใจและปฏิบัติตามตลอดระยะเวลาที่ทำงาน ไม่เพียงแต่การปฏิบัติตามที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ยังให้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์แห่งความซื่อสัตย์ (The Spirit of Integrity) ด้วยและได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาที่ต้องให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับหลักจรรยาบรรณธุรกิจต่อพนักงาน และตรวจสอบให้แน่ใจว่าพนักงานได้ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานตลอดจนรับทราบว่า ในกรณีที่มีการละเมิดจะมีการดำเนินการทางวินัยให้ถึงที่สุดซึ่งอาจรวมถึงการเลิกจ้าง

    การแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการและฝ่ายจัดการ

    ประธานกรรมการและประธานอำนวยการของบริษัทฯ มิได้เป็นบุคคลเดียวกัน เพื่อเป็นการแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการและฝ่ายจัดการให้ชัดเจน เนื่องจากประธานกรรมการทำหน้าที่บริหารคณะกรรมการซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการบริหารจัดการของฝ่ายจัดการ ส่วนประธานอำนวยการเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดการ ซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการให้เป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายที่อนุมัติโดยคณะกรรมการ นอกจากนี้ การที่ประธานกรรมการมิได้เป็นบุคคลเดียว กับประธานอำนวยการ ทำให้เกิดการคานอำนาจ และประธานกรรมการสามารถทำหน้าที่ได้โดยอิสระ

    นอกจากนี้ องค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัทยังประกอบด้วยกรรมการที่เป็นผู้บริหารจำนวนน้อยกว่ากรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารในสัดส่วน 1 : 6 จากจำนวนกรรมการบริษัททั้งคณะ 7 ราย ซึ่งการมีกรรมการที่เป็นผู้บริหารในคณะกรรมการบริษัทจำนวนน้อยที่สุดเช่นนี้ เป็นการถ่วงดุลและสร้างความเชื่อมั่นว่าคณะกรรมการจะไม่ถูกครอบงำโดยฝ่ายจัดการ

    ประธานกรรมการบริษัททำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมมีหน้าที่ดูแลจัดสรรเวลาแต่ละวาระให้อย่างเพียงพอสำหรับกรรมการที่จะอภิปรายแสดงความเห็นอย่างเป็นอิสระในประเด็นที่สำคัญโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม ในการประชุมประธานกรรมการเป็นผู้กล่าวสรุปประเด็นสำคัญของวาระการประชุมเพื่อการพิจารณาของกรรมการ พร้อมทั้งสนับสนุนและเปิดโอกาสให้กรรมการแต่ละท่านแสดงความคิดเห็นเพื่อประมวลความคิดเห็นและสรุปเป็นมติที่ประชุม

    อำนาจดำเนินการ

    คณะกรรมการบริษัทอาจมอบอำนาจให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคน หรือบุคคลอื่นใดปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนคณะกรรมการบริษัท และอาจยกเลิกเพิกถอนเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขอำนาจนั้นๆ ได้ คณะกรรมการบริษัทมีอำนาจกำหนดและแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อกรรมการซึ่งมีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ ตลอดจนจัดตั้งคณะกรรมการชุดย่อย อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริษัทอาจมอบอำนาจให้คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานต่างๆ ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร ทั้งนี้ การมอบอำนาจดังกล่าว ต้องไม่มีลักษณะเป็นการมอบอำนาจ หรือมอบอำนาจช่วงที่ทำให้ผู้รับมอบอำนาจสามารถอนุมัติรายการที่ตน หรือบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง มีส่วนได้ส่วนเสีย หรืออาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์อื่นใด (ตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด) ทำกับบริษัทฯ หรือบริษัทย่อย ยกเว้นเป็นการอนุมัติรายการที่เป็นไปตามนโยบายและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติไว้

    การประชุมคณะกรรมการบริษัท

    • คณะกรรมการกำหนดใหมี้การประชุมอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง และตามความจำเป็นโดยได้มีการกำหนดการประชุมคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อยไว้อย่างเป็นทางการล่วงหน้าตลอดทั้งปี และแจ้งให้กรรมการแต่ละท่านทราบกำหนดการดังกล่าว การประชุมแต่ละครั้งใช้เวลา 1 - 3 ชั่วโมง โดยกรรมการทุกคนมีโอกาสอภิปรายและแสดงความเห็นอย่างเปิดเผย
    • ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท กำหนดให้มีการส่งหนังสือนัดประชุมซึ่งระบุถึงวาระการประชุมอย่างชัดเจน รวมทั้งเอกสารประกอบการประชุมให้แก่คณะกรรมการล่วงหน้าก่อนการประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน หรืออย่างน้อย 5 วัน ทำการ ยกเว้นกรณีเร่งด่วน เพื่อให้มีเวลาเพียงพอที่จะศึกษาพิจารณาและตัดสินใจอย่างถูกต้องในเรื่องต่างๆ
    • การประชุมคณะกรรมการแต่ละครั้ง ต้องมีกรรมการเข้าร่วมครบองค์ประชุมตามข้อบังคับของบริษัทฯ โดยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้ามีรองประธานกรรมการให้รองประธานกรรมการเป็นประธาน ถ้าไม่มีรองประธานกรรมการหรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก
    • ประธานกรรมการเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการจัดเรื่องที่จะเข้าวาระการประชุม โดยปรึกษาหารือกับฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ฝ่ายบริหารจะพิจารณาคำขอบรรจุวาระที่สำคัญของกรรมการบางท่านเป็นวาระการพิจารณาในการประชุม
    • ประธานกรรมการมีหน้าที่จัดสรรเวลาให้อย่างเพียงพอที่ฝ่ายบริหารจะเสนอเอกสารข้อมูลเพื่อการอภิปราย และเพียงพอสำหรับคณะกรรมการที่จะอภิปรายในประเด็นที่สำคัญ
    • ในการประชุม ประธานกรรมการเป็นผู้กล่าวสรุปประเด็นสำคัญของวาระการประชุมเพื่อการพิจารณาของกรรมการ พร้อมทั้งสนับสนุนและเปิดโอกาสให้กรรมการ แต่ละท่านแสดงความคิดเห็น เพื่อประมวลความคิดเห็นและสรุปเป็นมติที่ประชุม
    • ในการพิจารณาระเบียบวาระต่างๆ กรรมการซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องที่จะพิจารณา จะงดออกเสียงและต้องไม่อยู่ในที่ประชุมในวาระดังกล่าว
    • กรรมการสามารถเข้าถึงและขอสารสนเทศคำปรึกษา และบริการต่างๆ ที่จำเป็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทฯ จากฝ่ายบริหาร และสามารถขอความเห็นที่เป็นอิสระจากที่ปรึกษาภายนอกได้
    • ในการประชุมแต่ละครั้งมีการจดบันทึกการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษรและนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทพิจารณาร่างรายงานการประชุมดังกล่าวก่อนทำการรับรองความถูกต้องของเอกสารในการประชุมครั้งถัดไป โดยประธานกรรมการบริษัทและเลขานุการบริษัท สำหรับเอกสารที่จัดเก็บจะมีทั้งบันทึกการประชุมซึ่งจัดเก็บในรูปแบบแฟ้มข้อมูลที่เป็นต้นฉบับและแฟ้มอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงเอกสารที่ประกอบวาระการประชุมด้วย เพื่อความสะดวกสำหรับกรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบอ้างอิงได้ ในรอบระยะเวลา 1 ตุลาคม 2561 - 30 กันยายน 2562 คณะกรรมการบริษัทมีการประชุมจำนวน 7 ครั้ง ในการประชุมแต่ละครั้งมีรองกรรมการผู้จัดการ สายงานบัญชีและการเงิน ผู้บริหารสายงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ รวมถึงสายงานตรวจสอบภายใน เข้าร่วมประชุมเพื่อรายงานความคืบหน้าของธุรกิจ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้มีการประชุมร่วมกันเฉพาะกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ในวาระที่ 8 คณะกรรมการบริษัท กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร และกรรมการอิสระ ได้มีการประชุมร่วมกันโดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมด้วย เพื่ออภิปรายปัญหาทั่วไปเกี่ยวกับการจัดการและการกำกับดูแลกิจการของบริษัท
    • องค์ประชุมขั้นต่ำขณะที่คณะกรรมการบริษัทจะลงมติ บริษัทฯ กำหนดนโยบายว่าในขณะที่คณะกรรมการบริษัทจะลงมติในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ต้องมีกรรมการอยู่ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด

    การวางแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ และการนำไปปฏิบัติ

    ในการประชุมคณะกรรมการบริษัททุกปีคณะกรรมการจะร่วมกันพิจารณาทบทวนวิสัยทัศน์ พันธกิจ และแผนงานกลยุทธ์ และแผนปฏิบัติงานประจำปี โดยในปี 2562 ที่ผ่านมาคณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาวางแผนกลยุทธ์และแผนการปฏิบัติงานสำหรับปี 2563 หลังจากนั้นคณะกรรมการจะมีการติดตามผลการปฏิบัติงานให้มีความสอดคล้องตามแผนงานของฝ่ายจัดการที่วางไว้ โดยฝ่ายจัดการจะรายงานผลการปฏิบัติงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารรับทราบเป็นรายเดือน และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทรับทราบเป็นรายไตรมาส

    ค่าตอบแทนคณะกรรมการบริษัท

    • คณะกรรมการบริษัทได้รับค่าตอบแทนตามความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย
    • คณะกรรมการได้จัดให้มีรายงานเกี่ยวกับค่าตอบแทนกรรมการเป็นรายบุคคลและค่าตอบแทนรวมของผู้บริหารไว้ในรายงานประจำปีของบริษัทฯ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี
    • ค่าตอบแทนกรรมการบริษัท อนุมัติโดยที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยการเสนอจากคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหา

3. คณะอนุกรรมการ

คณะกรรมการได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท โดยมีทั้งหมด 5 คณะ ได้แก่

  • คณะกรรมการบริหาร
  • คณะกรรมการตรวจสอบ
  • คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหา
  • คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
  • คณะกรรมการกำกับดูแลบรรษัทภิบาล

รายละเอียดของคณะอนุกรรมการแต่ละชุดมีดังต่อไปนี้

คณะกรรมการบริหาร

  • องค์ประกอบของคณะกรรมการบริหาร
    • กรรมการบริหารประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการบริหารจัดการ
    • ประธานคณะกรรมการบริหารจะต้องมาจากคณะกรรมการบริษัทเท่านั้น
  • การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร

    คณะกรรมการบริหารของบริษัทฯ แต่งตั้งโดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท

  • บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหาร

    พิจารณาและกำหนดนโยบาย ทิศทาง กลยุทธ์เป้าหมาย แผนธุรกิจ งบประมาณ และอำนาจบริหารต่างๆ ของบริษัทฯ และบริษัทย่อยร่วมกับฝ่ายบริหารระดับสูง เพื่อเสนอคณะกรรมการบริษัทเห็นชอบ รวมทั้งกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามแผนธุรกิจที่ได้รับอนุมัติ อนุมัติการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ในเรื่องต่างๆ ตามขอบเขตอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทกลั่นกรองในเรื่องที่ฝ่ายบริหารระดับสูงเสนอให้พิจารณาในส่วนที่นอกเหนือจากอำนาจของคณะกรรมการบริหาร เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริษัทอีกขั้นหนึ่ง

    ทั้งนี้ การอนุมัติรายการจะต้องไม่มีลักษณะเป็นการอนุมัติที่ทำให้คณะกรรมการบริหาร หรือผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการบริหารสามารถอนุมัติรายการที่ตน หรือบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง มีส่วนได้ส่วนเสียหรืออาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์อื่นใด (ตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด) กับบริษัทฯ หรือบริษัทย่อย ยกเว้นเป็นการอนุมัติรายการที่เป็นไปตามนโยบายและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติไว้

  • ค่าตอบแทนคณะกรรมการบริหาร

    คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหาจะเป็นผู้พิจารณาค่าตอบแทนในเบื้องต้น แล้วนำข้อมูลที่ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติ

คณะกรรมการตรวจสอบ

คณะกรรมการบริษัทยึดมั่นในความสำคัญของระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี การดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสตามครรลองของกฎหมายด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งต่อผู้ถือหุ้นคู่ค้า และลูกค้าของบริษัทฯ คณะกรรมการตรวจสอบจึงเป็นคณะกรรมการที่มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลองค์กรที่ดี เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายว่าการดำเนินการขององค์กรเป็นไปตามจรรยาบรรณที่พึงปฏิบัติ คงไว้ซึ่งระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส เป็นธรรมโดยปราศจากการขัดแย้งทางผลประโยชน์ คณะกรรมการบริษัทจึงได้กำหนดกฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบ3 ขึ้นดังนี้

  • คุณสมบัติของคณะกรรมการตรวจสอบ
    • คณะกรรมการตรวจสอบจะต้องแสดงความเห็นหรือรายงานได้อย่างเป็นอิสระตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ใดๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือตำแหน่งหน้าที่ และไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดๆ และไม่มีสถานการณ์ใดๆ ที่ทำให้ไม่สามารถแสดงความเห็นตามที่พึงจะเป็น
    • มีความซื่อสัตย์สุจริต
    • เป็นผู้ที่มีความเชื่อถือ ไว้วางใจเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
    • มีความเข้าใจหลักการบริหารที่ดีมีวิจารณญาณและทักษะในการตัดสินใจ สามารถวิเคราะห์ปัญหา ตั้งคำถามตรงประเด็น รวมทั้งตีความและประเมินผลของคำตอบที่ได้รับอย่างเหมาะสม
    • มีมนุษยสัมพันธ์ดี
    • มีความคิดสร้างสรรค์ แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ในการหารือและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
    • ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 1 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทฯ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง โดยให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
    • ไม่เป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมในการบริหารงาน พนักงาน ลูกจ้าง ที่ปรึกษาที่ได้รับเงินเดือนประจำ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือของผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ ทั้งในปัจจุบันและก่อนเป็นกรรมการตรวจสอบไม่น้อยกว่า 2 ปี
    • ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตหรือโดยการจดทะเบียนตามกฎหมายในลักษณะที่เป็นบิดา มารดา คู่สมรส พี่น้อง และบุตร รวมทั้งคู่สมรสของบุตร ของกรรมการรายอื่น ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม หรือบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ หรือบริษัทย่อย
    • ไม่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทฯ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือของผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ ในลักษณะที่อาจเป็นการขัดขวางการใช้วิจารณญาณอย่างอิสระของตน รวมทั้งไม่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทฯ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ ทั้งในปัจจุบันและก่อนเป็นกรรมการอิสระไม่น้อยกว่า 2 ปี ดังนี้
      • ไม่เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ บริษัทใหญ่บริษัทย่อย บริษัทร่วมผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือของผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ ทั้งนี้ให้รวมถึงการไม่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่กรรมการที่ไม่ใช่กรรมการอิสระ ผู้บริหาร หรือหุ้นส่วนผู้จัดการของสำนักงานสอบบัญชีต้นสังกัด
      • ไม่เป็นผู้ให้บริการทางวิชาชีพอื่นๆ เช่น ที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ประเมินราคาทรัพย์สินที่มีมูลค่าการให้บริการทางวิชาชีพอื่นเกินกว่า 2 ล้านบาทต่อปีแก่บริษัทฯ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือของผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ ทั้งนี้ให้รวมถึงการไม่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการที่ไม่ใช่กรรมการอิสระ ผู้บริหาร หรือหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้ให้บริการวิชาชีพอื่นๆ
      • ไม่ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือมีส่วนได้ส่วนเสีย จากการทำธุรกรรมทางการค้าหรือธุรกิจ ได้แก่ รายการที่เป็นธุรกิจปกติ รายการเช่าหรือให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ รายการเกี่ยวกับสินทรัพย์หรือบริการ หรือรายการให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับบริษัทฯ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 20 ล้านบาท หรือตั้งแต่ร้อยละ 3 ของสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิของบริษัทฯ แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า โดยให้นับรวมมูลค่ารายการในระหว่าง 1 ปี ก่อนวันที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ทั้งนี้ให้รวมถึงการไม่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการที่ไม่ใช่กรรมการอิสระ ผู้บริหาร หรือหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
    • ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกรรมการของบริษัทฯ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ
    • ไม่ประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของบริษัทฯ หรือบริษัทย่อย หรือทั้งนี้ให้รวมถึงการไม่เป็นกรรมการที่ไม่ใช่กรรมการอิสระ ผู้บริหาร ลูกจ้าง พนักงาน หรือที่ปรึกษาที่ได้รับเงินเดือนประจำ หรือถือหุ้นเกินร้อยละ 1 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทอื่นซึ่งประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของบริษัทฯ หรือบริษัทย่อย
    • ไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระได้
  • องค์ประกอบคณะกรรมการตรวจสอบ

    คณะกรรมการตรวจสอบประกอบด้วยกรรมการของบริษัทฯ ที่เป็นอิสระอย่างน้อย 3 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัทฯ หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นโดยกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 1 คนต้องเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจหรือประสบการณ์ด้านบัญชีหรือการเงิน (ดูรายละเอียดคุณสมบัติของกรรมการตรวจสอบของบริษัทฯ เพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ “คณะกรรมการบริษัทและคณะผู้บริหาร”) คณะกรรมการตรวจสอบทำการเลือกกรรมการตรวจสอบคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการตรวจสอบและให้หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบภายในเป็นเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบโดยตำแหน่ง ในกรณีที่ตำแหน่งหัวหน้าตรวจสอบภายในว่างลงให้คณะกรรมการตรวจสอบแต่งตั้งบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นผู้รักษาการแทน

  • การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ

    คณะกรรมการบริษัทหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการตรวจสอบ โดยแต่งตั้งจากกรรมการอิสระของบริษัทฯ ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประกาศของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนรวมถึงข้อบังคับและ/หรือระเบียบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่กำหนด ว่าด้วยคุณสมบัติและขอบเขตการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบ กรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 1 ท่าน ต้องเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจหรือมีประสบการณ์ด้านบัญชี และมีความรู้ต่อเนื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของรายงานทางการเงินเพียงพอที่จะทำหน้าที่ในการสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงินของบริษัทฯ กรรมการตรวจสอบแต่ละท่านมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี โดยครบรอบออกตามวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการบริษัท

  • ระบบการควบคุมภายใน

    บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญต่อระบบควบคุมภายในและการตรวจสอบภายใน จึงจัดให้มีหน่วยงานตรวจสอบภายในที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบทำหน้าที่ในการสอบทานระบบงานและเรื่องสำคัญต่างๆ ที่ผู้บริหารให้ความสนใจตามที่ได้รับมอบหมาย นอกจากนี้บริษัทฯ ยังตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดีอันเป็นปัจจัยหลักในการเสริมสร้างให้องค์กรมีระบบที่มีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือ โปร่งใส อันเป็นพื้นฐานของการเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้น การปฏิบัติของหน่วยงานตรวจสอบภายในจึงเป็นไปในทิศทางของการให้คำปรึกษา วิเคราะห์เสนอแนะแนวทางแก้ไขและติดตามผล เพื่อปรับปรุงระบบงานให้สามารถดำเนินไปสู่เป้าหมายขององค์กร และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

  • บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ

    คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทฯ มีบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท ดังนี้

    • สอบทานให้บริษัทฯ มีการรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและเพียงพอ
    • สอบทานให้บริษัทฯ มีระบบการควบคุมภายในและระบบการตรวจสอบภายในที่เหมาะสมและมีประสิทธิผล และพิจารณาความเป็นอิสระของหน่วยงานตรวจสอบภายใน ตลอดจนให้ความเห็นชอบในการการแต่งตั้งโยกย้าย เลิกจ้าง หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน หรือหน่วยงานอื่นใดที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน
    • สอบทานการควบคุมภายในที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีและนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน
    • สอบทานให้บริษัทฯ มีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดี มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อลดระดับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
    • สอบทานให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ
    • พิจารณาคัดเลือก เสนอแต่งตั้ง และเลิกจ้างบุคคลซึ่งมีความเป็นอิสระเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ และเสนอค่าตอบแทนของบุคคลดังกล่าว รวมทั้งเข้าร่วมประชุมกับผู้สอบบัญชีโดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมประชุมด้วยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
    • พิจารณารายการที่เกี่ยวโยงกัน หรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้เป็นไปตามกฎหมาย และข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้เพื่อใหมั้่นใจว่ารายการดังกล่าวสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทฯ
    • จัดทำรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบโดยเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปีของบริษัทฯ ซึ่งรายงานดังกล่าวต้องลงนามโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบ และต้องประกอบด้วยข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้
      • ความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้อง ครบถ้วนเป็นที่เชื่อถือได้ของรายงานทางการเงินของบริษัทฯ
      • ความเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอของระบบควบคุมภายในของบริษัทฯ
      • ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ
      • ความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้สอบบัญชี
      • ความเห็นเกี่ยวกับรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
      • จำนวนการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ และการเข้าร่วมประชุมของกรรมการตรวจสอบแต่ละท่าน
      • ความเห็นหรือข้อสังเกตโดยรวมที่คณะกรรมการตรวจสอบได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎบัตร
      • รายการอื่นที่เห็นว่าผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปควรทราบภายใต้ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทฯ
    • ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทฯ ด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบ
    • ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบหากพบหรือมีข้อสงสัยว่ามีรายการหรือการกระทำซึ่งอาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ให้คณะกรรมการตรวจสอบรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการตรวจสอบเห็นเหมาะสม
  • การประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ

    คณะกรรมการตรวจสอบควรจัดให้มีการประชุมอย่างสม่ำเสมอเพื่อพิจารณาเรื่องต่างๆ ตามหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ ภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

    • คณะกรรมการตรวจสอบจะต้องมีการประชุมเป็นประจำทุกไตรมาสอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง และมีอำนาจในการเรียกประชุมเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น
    • องค์ประชุมประกอบด้วยกรรมการตรวจสอบไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 กรรมการตรวจสอบทุกคนควรเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง หากไม่สามารถเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองได้อาจประชุมทางไกลผ่านทางโทรศัพท์ หรือจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพมายังที่ประชุมก็ได้
    • กรณีที่ประธานกรรมการตรวจสอบไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการตรวจสอบ ซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการตรวจสอบคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานในที่ประชุม
    • กรรมการตรวจสอบคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน เว้นแต่กรรมการตรวจสอบซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องที่พิจารณาใดไม่มีสิทธิออกเสียงลงมติในเรื่องนั้นๆ
    • การวินิจฉัยชี้ขาดในที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบให้ถือเสียงข้างมากเป็นสำคัญโดยประธานในที่ประชุมไม่มีสิทธิออกเสียงชี้ขาด เว้นแต่คะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
    • คณะกรรมการตรวจสอบมีสิทธิในการขอข้อมูลและข้อเท็จจริง โดยอาจเชิญฝ่ายจัดการผู้ตรวจสอบภายในผู้สอบบัญชี หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในเรื่องที่กำหนดได้ และในกรณีสำคัญและจำเป็นคณะกรรมการตรวจสอบอาจเชิญผู้เชี่ยวชาญอิสระและหรือผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการตรวจสอบก็ได้
    • การประชุมเป็นการเฉพาะกับฝ่ายบริหาร หรือผู้ตรวจสอบภายใน หรือผู้สอบบัญชีจะต้องจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
    • วาระการประชุมและเอกสารการประชุมจะต้องจัดทำขึ้นและนำเสนอก่อนการประชุมอย่างน้อย 7 วัน และให้เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้บันทึกรายงานการประชุม
  • วาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการตรวจสอบ

    กรรมการตรวจสอบมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันแต่งตั้งหรือตามวาระการเป็นกรรมการในบริษัทฯ และอาจได้รับการแต่งตั้งให้กลับเข้าดำรงตำแหน่งได้อีกแต่มิใช่โดยการต่อวาระโดยอัตโนมัติ

    การพ้นตำแหน่ง

    • กรรมการตรวจสอบจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อพ้นสภาพการเป็นกรรมการบริษัทฯ ครบวาระ ลาออก หรือถูกถอดถอน หรือขาดคุณสมบัติในการปฏิบัติงานในฐานะกรรมการตรวจสอบ
    • ในกรณีกรรมการตรวจสอบประสงค์จะลาออกก่อนครบวาระ กรรมการตรวจสอบควรแจ้งต่อคณะกรรมการบริษัทล่วงหน้า 1 เดือนพร้อมเหตุผล เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาแต่งตั้งบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรทดแทนกรรมการตรวจสอบที่ลาออก
  • ค่าตอบแทนคณะกรรมการตรวจสอบ

    คณะกรรมการตรวจสอบจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับหน้าที่และความรับผิดชอบโดยได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น และต้องเปิดเผยค่าตอบแทนไว้ในรายงานประจำปีของบริษัทด้วย

  • คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหา

    • การแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหา

      คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้สรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหา

    • บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหา
      • กำหนดหลักเกณฑ์และนโยบายในการสรรหากรรมการและกรรมการชุดย่อยของบริษัทฯ
      • พิจารณาสรรหาและคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการ ในกรณีที่มีตำแหน่งว่างลง เพื่อเสนอคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติและ/หรือ เสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้วแต่กรณี
      • พิจารณาสรรหาและคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่จะมาดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับกรรมการผู้จัดการขึ้นไปในกรณีที่มีตำแหน่งว่างลง
      • พิจารณาเสนอรายชื่อกรรมการที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นกรรมการชุดย่อย เสนอต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อแต่งตั้งเมื่อมีตำแหน่งว่างลง
      • พิจารณาเสนอแนะกำหนดค่าตอบแทนและผลประโยชน์อื่นใดที่จำเป็นและเหมาะสม ทั้งที่เป็นตัวเงินและมิใช่ตัวเงิน เพื่อจูงใจและรักษาคณะกรรมการ คณะกรรมการชุดย่อย และ/หรือเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติ
      • จัดทำหลักเกณฑ์และนโยบายในการกำหนดค่าตอบแทนของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหาเพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติและ/หรือเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติตามแต่กรณี โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาจากผลประกอบการของบริษัทฯ ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการแต่ละชุด ประสบการณ์ ความรู้ และความรับผิดชอบของกรรมการ โดยเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นในธุรกิจเดียวกัน
      • ประเมินผลงานประจำปี พิจารณากำหนดค่าตอบแทนและผลประโยชน์อื่นใดที่จำเป็นและเหมาะสมทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน เพื่อตอบแทนและจูงใจผู้บริหารระดับสูง ตั้งแต่ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการขึ้นไปโดยพิจารณาจากการประเมินผลงาน ความทุ่มเท และผลประกอบการของบริษัทฯ
      • ให้คำชี้แจง ตอบคำถามเกี่ยวกับค่าตอบแทนของกรรมการในที่ประชุมผู้ถือหุ้น
      • ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมายและด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหา
    • ค่าตอบแทนคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหา

      คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้กำหนดค่าตอบแทนของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหา พร้อมนำเสนอให้ผู้ถือหุ้นเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ

    คณะกรรมการกำกับดูแลบรรษัทภิบาล

    • การแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลบรรษัทภิบาล
      คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลบรรษัทภิบาล

    • บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการกำกับดูแลบรรษัทภิบาล

      • พิจารณา ทบทวน นำเสนอ ต่อคณะกรรมการบริษัทในเรื่องนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีจรรยาบรรณทางธุรกิจ นโยบายและแนวปฏิบัติในการดำเนินการบริหารจัดการความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการดำเนินงานด้านการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม และนโยบายหรือแนวปฏิบัติอื่นใดที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทตามแนวทางของธรรมาภิบาลให้เหมาะสมกับธุรกิจของบริษัทฯ
      • กำกับดูแลการปฏิบัติงานของฝ่ายจัดการให้นำแนวทางในข้อ (1) ไปใช้พัฒนาบริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยเปรียบเทียบกับแนวปฏิบัติของสากลปฏิบัติ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของสถาบันกำกับฯ ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
      • ทำการเปิดเผยหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและแนวปฏิบัติที่ดีที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ได้แก่ บริษัท ผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า สังคม และสิ่งแวดล้อม
      • ให้คำปรึกษาแก่คณะทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้ารับการจัดอันดับการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยหน่วยงานกลางภายนอกองค์กร
      • ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่คณะทำงาน เพื่อวางกรอบแนวทางการกำกับดูแลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตของบริษัทฯ
      • คณะกรรมการกำกับดูแลบรรษัทภิบาลมีอำนาจเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุม หรือให้ชี้แจงในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้
      • ทบทวนและปรับปรุงกฎบัตรคณะกรรมการกำกับดูแลบรรษัทภิบาล4 และเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่ออนุมัติ
      • งานอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการบริษัทฯ มอบหมาย
    • ค่าตอบแทนคณะกรรมการกำกับดูแลบรรษัทภิบาล
      คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหาเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองและเสนอค่าตอบแทนของคณะกรรมการกำกับดูแลบรรษัทภิบาลให้คณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ

    คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง

    • การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
      แต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริษัท
    • บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
      • กำหนดยุทธศาสตร์และนโยบาย ตลอดจนถึงการวางเป้าหมายของการบริหารความเสี่ยงของทั้งองค์กร เพื่อเป็นแนวทางให้ฝ่ายบริหารได้มีการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
      • กำหนดกรอบการบริหารความเสี่ยงโดยรวม (Integrated Risk Management) ให้ครอบคลุมความเสี่ยงหลักของธุรกิจ
      • วางระบบการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกัน หรือลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ อย่างถาวร รวมถึงจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงเป็นประจำ
      • จัดทำและอนุมัติแผนการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยประเมินปัจจัยความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ จัดทำแผนจัดการความเสี่ยงในทุกระดับจากการระดมความคิดเห็นจากผู้บริหารและพนักงานจากหน่วยต่างๆ
      • พัฒนาระบบจัดการความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพและติดตามให้บริษัทฯ มีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
      • ส่งเสริมให้ผู้บริหารและพนักงานตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการความเสี่ยงและบริหารความเสี่ยงที่อาจทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายรวมทั้งผลักดันให้มีการบริหารความเสี่ยงในทุกระดับขององค์กร และปลูกฝังให้เป็นวัฒนธรรมขององค์กร
      • ติดตามความคืบหน้าในการปฏิบัติตามแผนจัดการความเสี่ยงของบริษัทฯ ให้คำปรึกษาแนะนำในการดำเนินการบริหารความเสี่ยง
      • สื่อสารกับคณะกรรมการตรวจสอบถึงความเสี่ยงที่สำคัญที่มีผลต่อการควบคุมภายใน
      • รายงานต่อคณะกรรมการบริษัททราบถึงความเสี่ยงและการจัดการความเสี่ยง

4. การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารระดับสูงสุด

การสรรหากรรมการ

คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหากำหนดแนวทางที่จะใช้ในการพิจารณา โดยควรคำนึงถึงองค์ประกอบดังนี้

  • คุณลักษณะที่ต้องการในกรรมการแต่ละคน
    คณะกรรมการสรรหาควรพิจารณาและกำหนดคุณลักษณะเฉพาะบุคคลของผู้ที่จะคัดเลือกเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการในด้านต่างๆ เช่น ความมีคุณธรรมและความรับผิดชอบการตัดสินใจด้วยข้อมูลและเหตุผล ความมีวุฒิภาวะและความมั่นคง เป็นผู้รับฟังที่ดีและกล้าแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างและเป็นอิสระ ยึดมั่นในการทำงานอย่างมีหลักการและมาตรฐานอย่างมืออาชีพ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหาเห็นว่ามีความสำคัญ
  • ความรู้ความชำนาญที่ต้องการให้มีในคณะกรรมการ
    คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหาควรพิจารณากำหนดองค์ประกอบของความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านที่จำเป็นต้องมีในคณะกรรมการ เพื่อให้คณะกรรมการสามารถกำหนดกลยุทธ์และนโยบาย รวมทั้งกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายได้อย่างมีประสิทธิผล
  • ความหลากหลายของกรรมการ
    คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหาอาจพิจารณาถึงแนวทางเกี่ยวกับความหลากหลายของคุณสมบัติอื่นๆ ของกรรมการทั้งคณะ เช่น อายุ ความรู้ ความชำนาญ ทักษะ ประสบการณ์ทั้งทางด้าน Hard Skill และ Soft Skill (Board Skill Matrix) เพื่อกำหนดคุณสมบัติของกรรมการที่ต้องการสรรหา โดยพิจารณาจากทักษะจำเป็นที่ยังขาดอยู่ในคณะกรรมการและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทนอกจากนี้ คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน และสรรหาใช้ข้อมูลความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านของคณะกรรมการประกอบการพิจารณาสรรหากรรมการแทนกรรมการที่จะครบกำหนดออกจากตำแหน่งตามวาระ โดยจัดหมวดหมู่ออกเป็น 3 หมวด ได้แก่

    • ความรู้ ความชำนาญ หรือประสบการณ์ในการบริหารจัดการเชิงมหภาค (Macro-management)

      แบ่งออกเป็นด้านต่างๆ เช่น ด้านธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ ด้านการบริหาร การจัดการองค์กร การบริหารทรัพยากรมนุษย์ในภาครัฐหรือภาคเอกชนด้านเศรษฐกิจ การลงทุน รวมถึงการกำหนดนโยบายและวางแผนกลยุทธ์ด้านการตลาดหรือการประชาสัมพันธ์ ด้านการต่างประเทศ และด้านการบริหารความเสี่ยง

    • ความรู้ ประสบการณ์ หรือความชำนาญเฉพาะด้าน (Specific knowledge, experience or expertise)

      แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านกฎหมายกฎระเบียบราชการที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ 2) ด้านบัญชี และการเงินโดยต้องมีความรู้ความเข้าใจในงบการเงิน มาตรฐานบัญชี หรือเป็น/เคยเป็นกรรมการตรวจสอบของบริษัทจดทะเบียน และ 3) ด้านคมนาคม ด้านอสังหาริมทรัพย์ ด้านวิศวกรรมทำให้มีมิติแห่งความหลากหลาย สนับสนุนให้คณะกรรมการทั้งคณะมีความครบถ้วน สมบูรณ์ มีประสิทธิภาพที่เอื้อประโยชน์ให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด

    • ความรู้ ความชำนาญ หรือประสบการณ์ด้านบรรษัทภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance)

      แบ่งเป็น 2 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการกำกับดูแลกิจการภายในองค์กร รวมถึงการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง และ 2) ด้านการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ

การสรรหาผู้บริหารระดับสูงสุด (การสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง)
คณะกรรมการบริษัททำหน้าที่คัดเลือกและเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อดำรงตำแหน่งต่างๆ ได้แก่ กรรมการ กรรมการในคณะกรรมการชุดย่อยต่างๆ และผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งประธานอำนวยการ โดยบริษัทฯ มีแผนการคัดเลือกบุคลากรที่จะเข้ามารับผิดชอบในตำแหน่งงานบริหารระดับสูงที่สำคัญไว้ทุกตำแหน่งให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและโปร่งใส เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทฯ ได้ผู้บริหารที่มีความเป็นมืออาชีพ และบริหารงานได้โดยอิสระจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้ถือหุ้นรายอื่นใด ทั้งนี้ กระบวนการสรรหาพิจาณาคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมด้านวัยวุฒิ คุณวุฒิ ประสบการณ์ที่มีความรู้ความสามารถ ศักยภาพ เพื่อสร้างความพร้อมให้ทุกคนมีโอกาสเติบโต ก้าวหน้าขึ้นสู่ระดับผู้บริหารในอนาคตได้ โดยผ่านขั้นตอนการประเมินที่มีศักยภาพสูงซึ่งทุกคนจะได้รับการพัฒนาตามแผนที่วางไว้เป็นรายบุคคล มีการมอบหมายงานที่ท้าทาย รวมทั้งหมุนเวียนงานเพื่อพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำ และความรอบรู้ในงาน ซึ่งการเตรียมบุคลากรของกลุ่มบริษัทฯ ดำเนินการกับพนักงานทุกระดับให้มีความพร้อมในการทดแทน เมื่อตำแหน่งงานว่างลง รวมถึงการดำเนินงานสานต่ออย่างทันท่วงที

บริษัทฯ ได้กำหนดให้มีแผนการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารในระดับต่างๆ โดยเฉพาะผู้บริหารและตำแหน่งในสายงานหลัก ซึ่งเน้นการสรรหาจากบุคลากรภายในองค์กร โดยแต่ละปีจะกำหนดให้มีการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีผลการปฏิบัติงานที่ดี และมีศักยภาพได้เติบโตในตำแหน่งที่สูงขึ้นตามลำดับขั้นของพนักงานทั้งผู้บริหารระดับกลางและพนักงานโดยคณะกรรมการพิจารณาประกอบด้วยประธานอำนวยการและผู้บริหารระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไป หรือผู้บริหารระดับกลางเป็นผู้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน กำหนดแนวทางเกี่ยวกับความหลากหลายของคุณสมบัติอื่นๆ ของผู้บริหาร (Skill Matrix) เพื่อกำหนดคุณสมบัติของผู้บริหารที่ต้องการสรรหา โดยพิจารณาจากทักษะจำเป็นที่ยังขาดอยู่ในคณะผู้บริหารและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท

นโยบายและวิธีปฏิบัติในการดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทอื่น

การไปดำรงตำแหน่งกรรมการที่บริษัทอื่นของประธานอำนวยการจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท และการดำเนินธุรกิจของบริษัทดังกล่าวต้องไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับธุรกิจของบริษัท

5. การแต่งตั้งเลขานุการบริษัท

บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของเลขานุการบริษัท

  • ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวังและความซื่อสัตย์สุจริต เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง
  • จัดการและประสานงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท การประชุมคณะอนุกรรมการ และการประชุมผู้ถือหุ้น รวมทั้งดูแลและประสานงานให้มีการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัทฯ มติคณะกรรมการบริษัท / ผู้ถือหุ้น ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านกฎหมายและกฎระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง
  • จัดทำและเก็บรักษาเอกสารต่างๆ ของบริษัทฯ ได้แก่ ทะเบียนกรรมการ หนังสือนัดประชุม รายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้น รายงานประจำปีของบริษัทฯ เป็นต้น
  • เก็บรักษารายงานการมีส่วนได้ส่วนเสียที่รายงานโดยกรรมการผู้บริหารของบริษัทฯ รวมทั้งจัดส่งสำเนารายงานดังกล่าวให้ประธานกรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบ ภายใน 7 วันทำการนับแต่วันที่บริษัทฯ ได้รับรายงานนั้น
  • ดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด

6. การพัฒนา / การปฐมนิเทศกรรมการและผู้บริหาร

การพัฒนาความรู้
บริษัทฯ สนับสนุนการเข้าร่วมอบรมหรือสัมมนาต่างๆ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของคณะกรรมการบริษัทผู้บริหาร และพนักงาน เช่น การเข้าร่วมการสัมมนาอบรมกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การปฐมนิเทศกรรมการและผู้บริหาร
บริษัทฯ จัดให้มีการปฐมนิเทศเบื้องต้นสำหรับกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ เพื่อให้กรรมการใหม่ได้รับทราบนโยบาย ลักษณะการดำเนินธุรกิจ ประวัติและความเป็นมาของบริษัทฯ ที่ตั้งสำนักงานและสาขา วัฒนธรรมองค์กรพร้อมรับคำชี้แจงจากประธานอำนวยการและเลขานุการบริษัทเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กร นโยบายการกำกับดูแลกิจการ ระบบการควบคุมภายในพร้อมเอกสารประกอบ

คณะกรรมการบริษัทสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาความรู้ให้กับกรรมการทุกคน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ บริษัทฯ มีนโยบายส่งเสริมให้กรรมการเข้าร่วมสัมมนาและเข้าร่วมอบรมอย่างต่อเนื่อง หลักสูตรต่างๆ ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือสถาบันอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในส่วนของหน้าที่ และความรับผิดชอบของกรรมการ หรือแนวทางการบริหารจัดการแนวใหม่ เพื่อให้กรรมการทุกคนมีการพัฒนาและปรับปรุงการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2562 ได้สนับสนุนกรรมการ / ผู้บริหารเข้าร่วมอมรมต่างๆ อาทิ เช่น

กรรมการ / ผู้บริหาร / เลขานุการบริษัท ตำแหน่ง หลักสูตรการอบรม ปี 2562
1. นายธนพล ศิริธนชัย กรรมการบริษัท / กรรมการบริหาร / กรรมการกำกับดูแลบรรษัทภิบาล / กรรมการบริหารความเสี่ยง / ประธานอำนวยการ
  • หลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (วปอ. รุ่นที่ 61)
2. นายแสนผิน สุขี กรรมการบริหาร / กรรมการบริหารความเสี่ยง / กรรมการผู้จัดการใหญ่
  • หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บยส.) รุ่นที่ 23 (ปี 2561 - 2562) วิทยาลัยการยุติธรรมสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
3. นายสมบูรณ์ วศินชัชวาล กรรมการบริหาร / กรรมการบริหารความเสี่ยง / รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบัญชีและการเงิน
  • Strategic Financial Leadership Program (SFLP) 2019
4. นางสาวปรัศนีย์ สุระเสถียร เลขานุการบริษัท / รองกรรมการผู้จัดการสายงาน / กลยุทธ์องค์กรและการลงทุน
  • Beyond regulations: Tips for effective MD&A reporting
  • TLCA IR Conference 2019: “Engaging your stakeholders through effective communications”

7. การกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม

บริษัทฯ มีการส่งบุคคลเพื่อเป็นตัวแทนของบริษัทฯ ไปเป็นกรรมการ ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจควบคุมในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมตามสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม (ดูรายละเอียดกรรมการผู้บริหารและผู้มีอำนาจควบคุมในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมของบริษัทฯ เพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ “ข้อมูลการดำรงตำแหน่งของกรรมการบริษัทย่อยบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)” และหัวข้อ “คณะกรรมการบริษัทและคณะผู้บริหาร”) ทั้งนี้ กรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ สามารถเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมได้ โดยต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทด้วย

บุคคลผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจควบคุมในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมดังกล่าว มีหน้าที่ดำเนินการเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมนั้น นอกจากนี้ ในการลงมติหรือใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องสำคัญของบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วม ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับที่ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท หากเป็นการดำเนินการโดยบริษัทฯ เอง บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งนั้นต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทก่อนที่จะไปลงมติหรือใช้สิทธิในเรื่องสำคัญนั้นๆ

ในกรณีเป็นบริษัทย่อย บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งจากบริษัทดังกล่าวต้องดูแลให้บริษัทย่อยมีการจัดเก็บข้อมูลและการบันทึกบัญชีให้บริษัทฯ สามารถตรวจสอบและรวบรวมมาจัดทำงบการเงินรวมได้ทันกำหนด รวมทั้งต้องดูแลให้บริษัทย่อยมีข้อบังคับในการทำรายการเกี่ยวโยงกันที่สอดคล้องกับบริษัทฯ

8. การควบคุมภายใน

คณะกรรมการตรวจสอบทำหน้าที่ในการสอบทานผลการประเมินการควบคุมภายในของบริษัทฯ ให้ข้อเสนอแนะต่อฝ่ายจัดการเพื่อให้มีการแก้ไขปรับปรุงระบบการควบคุมภายในให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ แนะนำให้มีการจัดทำคู่มือปฏิบัติงานของทุกฝ่ายงานให้เป็นมาตรฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการดำเนินงาน รวมทั้งสอบทานเพื่อให้ความมั่นใจว่าระบบบัญชีและรายงานทางการเงินมีความถูกต้องเชื่อถือได้ มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการบริษัททุกไตรมาส ได้ให้ความสำคัญต่อการรายงานระบบการควบคุมภายในอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดวาระหลักให้คณะกรรมการตรวจสอบให้ความเห็นต่อการควบคุมภายใน

ในแต่ละปีคณะกรรมการตรวจสอบจะร่วมประชุมกับผู้สอบบัญชีอิสระของบริษัทฯ และผู้ตรวจสอบภายในเป็นประจำทุกไตรมาสเพื่อติดตามและสอบถามถึงระบบการควบคุมภายในของบริษัทฯ โดยคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นตรงกันว่า ระบบการควบคุมภายใน ณ ปัจจุบันของบริษัทฯ และบริษัทในเครืออยู่ในระดับที่เพียงพอ และมีความเหมาะสม

9. การประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ และคณะกรรมการชุดย่อยทุกชุด (ทั้งคณะและรายบุคคล)

คณะกรรมการบริษัทมีมติเห็นชอบแบบประเมินผลคณะกรรมการบริษัททั้งคณะ เพื่อใช้ในการประเมินผลตนเองของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อย (ทั้งคณะและรายบุคคล) โดยกำหนดให้มีการจัดทำแบบประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พร้อมทั้งจัดทำสรุปผลการประเมินกรรมการบริษัท รวมถึงการประเมินผลตนเองของคณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหาด้วย เพื่อใช้เป็นกรอบในการตรวจสอบและแก้ไขปรับปรุงการปฏิบัติงานในหน้าที่

  • กระบวนการในการประเมินผลงานคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อย (ทั้งคณะและรายบุคคล)

    ในทุกสิ้นปี ส่วนงานเลขานุการบริษัทและส่วนงานเลขานุการคณะกรรมการชุดย่อย ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและคณะกรรมการกำกับดูแลบรรษัทภิบาล จะจัดส่งแบบประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อประเมินผลงานประจำปี ซึ่งภายหลังจากที่คณะกรรมการแต่ละคนประเมินผลงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะส่งแบบประเมินผลการปฏิบัติงานกลับมายังส่วนงานเลขานุการบริษัทและเลขานุการคณะกรรมการชุดย่อยแต่ละคณะ เพื่อรวบรวมผลประเมินของกรรมการแต่ละคนและสรุปผลการประเมินของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อยในรอบปี และรายงานให้คณะกรรมการบริษัทและ/หรือคณะกรรมการชุดย่อยแต่ละคณะรับทราบต่อไป

  • หลักเกณฑ์การประเมินผลงานของคณะกรรมการบริษัทฯ และคณะกรรมการชุดย่อย (ทั้งคณะและรายบุคคล)

    คะแนนประเมินร้อยละ อยู่ในเกณฑ์
    85-100 ดีมาก-ดีเยี่ยม
    75-85 ดี
    65-75 ค่อนข้างดี
    50-65 ดีพอสมควร
    ต่ำกว่า 50 ควรปรับปรุง
  • หัวข้อพิจารณาการประเมินผลปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อย

    แบบประเมินผลปฏิบัติงานคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อยมีหัวข้อพิจารณาหลัก ได้แก่

    • โครงสร้างและคุณสมบัติของคณะกรรมการ
    • บทบาท / หน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
    • การประชุมคณะกรรมการ
    • การทำหน้าที่ของคณะกรรมการ
    • ความสัมพันธ์กับฝ่ายจัดการ
    • การพัฒนาตนเองของกรรมการและการพัฒนาผู้บริหาร
  • สรุปผลการประเมินเฉลี่ยของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อยแต่ละคณะในปี 2562

    คณะกรรมการ คะแนนเฉลี่ย เกณฑ์
    1. คณะกรรมการบริษัท    
    รายคณะ 91.98% ดีมาก - ดีเยี่ยม
    รายบุคคล 94.89% ดีมาก - ดีเยี่ยม
    2. คณะกรรมการตรวจสอบ    
    รายคณะ 100.00% ดีมาก - ดีเยี่ยม
    รายบุคคล 100.00% ดีมาก - ดีเยี่ยม
    3. คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและสรรหา    
    รายคณะ 97.37% ดีมาก - ดีเยี่ยม
    รายบุคคล 95.45% ดีมาก - ดีเยี่ยม
    4. คณะกรรมการบริหาร    
    รายคณะ 92.50% ดีมาก - ดีเยี่ยม
    รายบุคคล 88.18% ดีมาก - ดีเยี่ยม
    5. คณะกรรมการกำกับดูแลบรรษัทภิบาล    
    รายคณะ 99.07% ดีมาก - ดีเยี่ยม
    รายบุคคล 99.24% ดีมาก - ดีเยี่ยม
    6. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง    
    รายคณะ 85.19% ดีมาก - ดีเยี่ยม
    รายบุคคล 85.61% ดีมาก - ดีเยี่ยม

10. ค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชี

ค่าตอบแทนจากการสอบบัญชี (Audit Fee)
บริษัทฯ และบริษัทย่อยจ่ายค่าตอบแทนการสอบบัญชีให้กับบริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย สอบบัญชี จำกัด ซึ่งเป็นสำนักงานสอบบัญชีที่ผู้สอบบัญชีสังกัด

ค่าตอบแทนการสอบบัญชี ประจำปี 2562 2561 25601
1. ค่าสอบบัญชีประจำปีและค่าสอบทานรายไตรมาสสำหรับงบการเงินเฉพาะและงบการเงินของบริษัท 1,350,000 1,320,000 1,000,000
2. ค่าสอบบัญชีประจำปีและรายไตรมาสของบริษัทย่อย 5,450,000 5,350,000 4,900,000
รวมค่าสอบบัญชีของบริษัทและบริษัทย่อยทั้งหมด 6,800,000 6,670,000 5,900,000

หมายเหตุ: 1สำหรับรอบระยะเวลา มกราคม - กันยายน 2560

ทั้งนี้บริษัทที่เป็นสำนักงานสอบบัญชีและผู้สอบบัญชีไม่มีความสัมพันธ์หรือส่วนได้ส่วนเสียใดๆ กับบริษัท บริษัทย่อย ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว ซึ่งค่าตอบแทนการสอบบัญชีประจำปีจะนำเสนอผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติทุกครั้ง

ค่าตอบแทนอื่น (Non-audit Fee)

ค่าตอบแทนอื่น 2562 2561 25601
1. ค่าบริการให้คำปรึกษา 337,500 330,000 520,000
2. ค่าอบรมมาตรฐานบัญชี - 79,612 -

หมายเหตุ: 1สำหรับรอบระยะเวลา มกราคม - กันยายน 2560

11. การปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในเรื่องอื่นๆ

ประธานกรรมการและประธานอำนวยการของบริษัทฯ มิได้เป็นบุคคลเดียวกัน เพื่อเป็นการแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการและฝ่ายจัดการให้ชัดเจน เนื่องจากประธานกรรมการทำหน้าที่บริหารคณะกรรมการ ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการบริหารจัดการของฝ่ายจัดการ ส่วนประธานอำนวยการเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดการ ซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการให้เป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายที่อนุมัติโดยคณะกรรมการ นอกจากนี้ การที่ประธานกรรมการมิได้เป็นบุคคลเดียวกับประธานอำนวยการทำให้เกิดการคานอำนาจ และประธานกรรมการสามารถทำหน้าที่ได้โดยอิสระ
นอกจากนี้ องค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัทยังประกอบด้วยกรรมการที่เป็นผู้บริหารจำนวนน้อยกว่ากรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารในสัดส่วน 1:6 จากจำนวนกรรมการบริษัททั้งคณะ 7 ราย ซึ่งการมีกรรมการที่เป็นผู้บริหารในคณะกรรมการบริษัทจำนวนน้อยที่สุดเช่นนี้เป็นการถ่วงดุลและสร้างความเชื่อมั่นว่าคณะกรรมการจะไม่ถูกครอบงำโดยฝ่ายจัดการ

สรุปการเข้าร่วมประชุมของคณะกรรมการบริษัทในปี 2561

รายชื่อกรรมการบริษัท การเข้าร่วมประชุม/การประชุมทั้งหมด
คณะกรรมการ บริษัท คณะกรรมการ ตรวจสอบ คณะกรรมการ พิจารณา ค่าตอบแทน และสรรหา คณะกรรมการ กำกับดูแล บรรษัทภิบาล คณะกรรมการ บริหาร
1. นายวันชัย ศารทูลทัต1 7 /
7 ครั้ง
1 /
1 ครั้ง
2 /
2 ครั้ง
1 /
1 ครั้ง
 
2. นายปณต สิริวัฒนภักดี2 3 /
7 ครั้ง
  2 /
2 ครั้ง
  10 /
13 ครั้ง
3. นายฐาปน สิริวัฒนภักดี 5 /
7 ครั้ง
       
4. นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ 5 /
7 ครั้ง
       
5. นายสิทธิชัย ชัยเกรียงไกร 7 /
7 ครั้ง
      13 /
13 ครั้ง
6. นายอุดม พัวสกุล 7 /
7 ครั้ง
4 /
4 ครั้ง
     
7. นายธนพล ศิริธนชัย 7 /
7 ครั้ง
    2 /
2 ครั้ง
13 /
13 ครั้ง
8. นายชายน้อย เผื่อนโกสุม3
ลาออก
5 /
5 ครั้ง
4 /
4 ครั้ง
  2 /
2 ครั้ง
 
9. นายชินวัฒน์ ชินแสงอร่าม1
ลาออก
2 /
2 ครั้ง
2 /
2 ครั้ง
  2 /
2 ครั้ง
 

หมายเหตุ: 1นายวันชัย ศารทูลทัต ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจสอบแทนและคณะกรรมการกำกับดูแลบรรษัทภิบาลแทนนายชินวัฒน์ ชินแสงอร่าม ที่ลาออกจากการเป็นกรรมการ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2562
2นายปณต สิริวัฒนภักดี ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัทผ่านทางโทรศัพท์ (Call Conference) เป็นจำนวน 3 ครั้ง ด้วยสาเหตุติดภารกิจนอกราชอาณาจักร ซึ่งในทางกฏหมายไม่อนุญาตให้นับเป็นองค์ประชุมเนื่องจากตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 74/2557 เรื่อง การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กำหนดให้การประชุมที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมี สามารถกระทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ และให้ถือเป็นการประชุมที่ชอบด้วยกฎหมายภายใต้เงื่อนไขที่สำคัญคือ ผู้ร่วมประชุมอย่างน้อยหนึ่งในสามขององค์ประชุมต้องอยู่ในที่ประชุมเดียวกัน และผู้ร่วมประชุมทั้งหมดต้องอยู่ในราชอาณาจักร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องบันทึกจำนวนครั้งการเข้าประชุมตามเกณฑ์ของประกาศดังกล่าว ในขณะที่กรรมการท่านนี้มีการเข้าร่วมประชุมกรรมการบริษัทฯ รวมทั้งหมด 6 ครั้ง
3นายชายน้อย เผื่อนโกสุม ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทฯ และกรรมการอื่นๆ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 เนื่องจากบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (“FPT”) ได้เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทฯ ส่งผลให้บริษัทฯ มีสถานะเป็นบริษัทย่อยของ “FPT” และโดยที่นายชายน้อยเผื่อนโกสุม ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการตรวจสอบของบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จึงไม่สามารถดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจสอบของบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้อีกต่อไป เพราะจะเป็นการขัดกับหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของคณะกรรมการตรวจสอบที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนด


การถือหลักทรัพย์ของกรรมการและผู้บริหาร

กรรมการ / ผู้บริหาร ณ 30 กันยายน 2562 รวม
30/09/61
เปลี่ยนแปลง เพิ่ม (ลด)
จำนวนหุ้นที่ถือโดย กรรมการ / ผู้บริหาร จำนวนหุ้นที่ถือโดย ผู้เกี่ยวข้อง* รวม
30/09/62
ต้นปี ระหว่างปี ปลายปี ต้นปี ระหว่างปี ปลายปี
กรรมการ
1. นายวันชัย ศารทูลทัต
-
-
-
-
-
-
-
-
-
2. นายปณต สิริวัฒนภักดี
-
-
-
-
-
-
-
-
-
3. นายฐาปน สิริวัฒนภักดี
-
-
-
-
-
-
-
-
-
4. นายโชติพัฒน์ พีชานนท์
-
-
-
-
-
-
-
-
-
5. นายสิทธิชัย เกรียงไกร
-
-
-
-
-
-
-
-
-
6. นายอุดม พัวสกุล
-
-
-
-
-
-
-
-
-
7. นายธนพล ศิริธนชัย
-
-
-
-
-
-
-
-
-
ผู้บริหาร
1. นายธนพล ศิริธนชัย
-
-
-
-
-
-
-
-
-
2. นายสมบูรณ์ วศินชัชวาล
-
-
-
-
-
-
-
-
-
3. นายแสนผิน สุขี
-
-
-
-
-
-
-
-
-
4. นางสาวปรัศนีย์ สุระเสถียร
-
-
-
-
-
-
-
-
-
5. นายวิทวัส คุตตะเทพ
-
-
-
-
-
-
-
-
-
6. นายเทพศักดิ์ นพกรวิเศษ
-
-
-
-
-
-
-
-
-
7. นางสาวธีรนันท์ กรศรีทิพา
-
-
-
-
-
-
-
-
-

ไทย | EN

Copyright © 2016, Golden Land Property Development PLC. All Rights Reserved.